แพทย์เน้นย้ำ กลุ่มผู้สูงอายุหรือมีโรคร่วม -เด็ก-สตรีมีครรภ์เสริมภูมิคุ้มกันป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ หลังพบสัญญาณปี 68 พุ่งสูง

แพทย์เตือนคนไทยป้องกันตัวจากภัยโรคทางเดินหายใจ ต้นเหตุการป่วยและเสียชีวิตของกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หลังต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจ อาทิ โควิด 19 ปอดอักเสบและ RSV พร้อมเจอปัญหาฝุ่น PM 2.5 รุนแรงซ้ำหนุนกระตุ้นโรคเพิ่มขึ้น ด้านไฟเซอร์เตรียมพร้อมช่วยคนไทยรับมือ กระตุ้นให้กลุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม 608 ผู้สูงอายุ หรือมีโรคร่วม หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก เร่งกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรค และลดการป่วยหนัก

            นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมาคนไทยป่วยเป็นโรคโควิด 19 และเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์จะลดความรุนแรงลง แต่ยังพบว่ามีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติในปี 2567 พบผู้ป่วยสะสม 769,200 คน ซึ่งนับว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุดและผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีผู้เสียชีวิตสะสม 222 ราย  และสายพันธุ์ที่ตรวจพบเกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ JN.1 ส่วนของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) ในปี 2567 มีผู้ป่วย RSV จำนวน 8,218 ราย โดยพบมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี  ในขณะที่อุบัติการณ์ลดลงในผู้ใหญ่ และเริ่มพบมากขึ้นในผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ เป็นการสุ่มตัวอย่างในผู้ป่วยที่มาด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ในโรงพยาบาลเครือข่ายของกรมควบคุมโรค 8 แห่ง ซึ่งในความเป็นจริงอาจมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่านี้ สำหรับสถานการณ์โรคปอดอักเสบ ปี 2567 มีผู้ป่วยสะสมกว่า 4 แสนราย โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 2 อันดับแรก คือ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี และเด็กเล็ก 0-4 ปี  มีผู้เสียชีวิต 865 ราย โดยส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป สาเหตุเกิดได้จากทั้งเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย โดยไวรัสเกิดได้จากไข้หวัดใหญ่ RSV และ COVID-19 ในขณะที่แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหลักได้แก่เชื้อ Streptococcus pneumoniae หรือเชื้อนิวโมคอคคัส1

            นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 ในปี 2568 มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อน้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง  ข้อมูลถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ มีผู้ป่วยสะสม 8,434 ราย เสียชีวิต 3 ราย โดยสายพันธุ์ที่พบส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ JN.1 1,2   ดังนั้นจึงแนะนำให้ประชาชนดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการนำมือมาสัมผัสจมูก ปาก ตา ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน หรือไปในสถานที่ปิด สถานที่แออัด ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หมั่นเช็ดถูทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ร้อน สะอาด หากพบว่าป่วยเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจควรหยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ โดยเฉพาะหลังพบเด็กป่วย และเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ดังนั้น การได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงยังมีความสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง

            ด้าน รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ กล่าวว่า  การได้รับวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนไทยทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะช่วยลดการติดเชื้อ การเจ็บป่วยรุนแรง และการเสียชีวิตได้ ซึ่งข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่ากลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลก เสียชีวิตด้วยโรคปอดอักเสบมากเป็นอันดับต้น ๆ3

สำหรับ    โควิด 19 ในเด็กเล็กเมื่อเป็นแล้วมักมีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง จนเกิดอาการชักได้ และมีอัตราการนอนรพ.สูงกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ เด็กบางคนเมื่อหายจากโควิด 19 แล้ว อาจมีอาการ “Long COVID” นานเป็นเวลาหลายเดือนได้ ส่วนในเด็กโตอาจมีอาการอักเสบรุนแรงทั่วร่างกายเรียก “MIS-C”

ในส่วนของ RSV เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เด็กวัย 0-6 เดือนป่วยได้บ่อย และจัดเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้  เด็ก ๆ เป็นปอดอักเสบต้องนอนโรงพยาบาล อาจมีอาการรุนแรงจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ นอกจากนี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว เช่นความเสี่ยงต่อโรคหอบหืดที่เพิ่มขึ้น

ที่น่ากังวล คือการติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจ ไม่ได้จบแค่ไวรัสเท่านั้น ในบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมได้ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นตัวการสำคัญคือเชื้อนิวโมคอคคัสที่มักอาศัยอยู่ในโพรงจมูก และลำคอของเด็ก ๆ อยู่แล้ว เมื่อใดก็ตามที่เด็กร่างกายอ่อนแอหรือมีการติดเชื้อไวรัสมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น ไข้หวัดใหญ่ RSV หรือ โควิด 19 ก็ตาม จะทำให้เชื้อนิวโมคอคคัส แพร่กระจายไปอวัยวะทั่วร่างกาย นอกจากจะทำให้เกิดปอดอักเสบแล้ว ยังทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด และหูชั้นกลางอักเสบได้ด้วย แต่โชคดีที่ทั้ง 4 โรคนี้มีวัคซีนป้องกัน เราจึงสามารถลดอัตราการป่วย-ตาย การนอน รพ. จากเชื้อดังกล่าวได้เป็นอย่างดีทั่วโลก

อนึ่ง ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยลงทุกปี ปีที่ผ่านมาอัตราการเกิดลดลงถึง11%4 เราจึงไม่ควรสูญเสียเด็กๆ อีก โดยเฉพาะจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน 

“การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายให้แข็งแรง นอกจากจะสามารถป้องกันการติดเชื้อจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลซึ่งมีมูลค่าที่สูง แม้จะรักษาในโรงพยาบาลรัฐก็ตาม  ช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพเด็กในระยะยาว และยังช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการที่พ่อแม่ต้องหยุดงานเพื่อมาดูแลลูกที่ป่วยอีกด้วย ” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

            ขณะที่ ศ. นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้า Tropical Medicine Cluster, Health Supercluster, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์และโรคติดเชื้อ สภากาชาดไทย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวว่า การได้รับวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ปัจจุบันไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นเฉพาะเด็กเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ยังมีความจำเป็นต้องได้ฉีดวัคซีนเช่นกัน เพราะ 1. เมื่ออายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันเสื่อมถอยลง 2. วัคซีนมีประโยชน์ในด้านช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อ และ 3. วัคซีนป้องกันอาการรุนแรงเมื่อเกิดการติดเชื้อได้ โดยสามารถพิจารณาการให้วัคซีนได้จาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ อายุ โรคประจำตัว ประวัติการฉีดวัคซีนและสถานะภูมิคุ้มกันของผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว บุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้ที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง

“เมื่อเร็ว ๆ นี้ จะเห็นข่าวดาราติดไข้หวัดใหญ่ แล้วมีภาวะแทรกซ้อนคือเกิดโรคปอดอักเสบ ทำให้เสียชีวิต เพราะเมื่อเชื้อลงปอดแล้วโรคมักจะรุนแรง ซึ่งในหลาย ๆ เคส เมื่อติดเชื้อไวรัสภูมิคุ้มกันร่างกายจะอ่อนแอลง ทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ซึ่งที่พบบ่อยได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ส่งผลให้อาการยิ่งทวีคูณความรุนแรง ดังนั้นถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง แนะนำอย่างยิ่งให้ฉีดวัคซีนเพราะการป้องกันถูกกว่าการรักษา”

ในส่วนของโควิด 19 นั้น ตอนนี้เป็นโรคประจำถิ่นเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ จึงควรพิจารณาเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เพราะภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้ออาจไม่เพียงพอที่จะป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มเสี่ยงสูงที่ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด 19 รวมถึงกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง กับกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่ากลุ่มไม่ได้รับวัคซีนจะมีการติดเชื้อแล้วอาการรุนแรงมากกว่า เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อนั้นมีความหลากหลายและขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคด้วย

“การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคทางเดินหายใจในผู้ใหญ่ หวังผลในการป้องกันปอดอักเสบเป็นหลัก เพราะเมื่อเป็นแล้วจะมีอาการรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล บางรายอาจมีการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วย ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิต ดังนั้นผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับโรคทางเดินหายใจในผู้ใหญ่ที่สำคัญอย่างน้อย 4 โรค ได้แก่ 1. ไข้หวัดใหญ่ 2. โควิด 19 3. โรคติดเชื้อไวรัส RSV และ 4. โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ศ.นพ.ธีระพงษ์ กล่าว

ด้าน นพ.นิรุตติ์ ประดับญาติ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไฟเซอร์มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับชีวิตผู้ป่วย โดยมุ่งเน้นการค้นคว้าและพัฒนายาและวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูง เพื่อป้องกันความสูญเสียที่เกิดจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่ถือเป็นภัยคุกคามทั่วโลก

            สำหรับวัคซีน PCV ที่ป้องกันโรคปอดอักเสบ ในปัจจุบันถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมเชื้อนิวโมคอคคัส  20 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดปอดอักเสบหรือไอพีดี   เป็นวัคซีนที่พัฒนาจากวัคซีนในรุ่นก่อนหน้าที่มีการใช้ทั่วโลกมากว่า 20 ปี  โดยเพิ่มสายพันธุ์ในวัคซีน เพื่อให้ครอบคลุมสายพันธุ์ที่ก่อโรครุนแรงได้กว้างขึ้น  

            ส่วนวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส RSV ชนิดสองสายพันธุ์ (Bivalent RSV preF Vaccine) ครอบคลุมทั้งสายพันธุ์ A และ B เป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้ทั้งในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อส่งผ่านภูมิคุ้มกันให้แก่ลูก และในผู้สูงอายุตั้งต่ 60 ปีขึ้นไป

            สำหรับวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด19  เนื่องจากโรคยังคงมีความรุนแรง ทำให้เกิดการป่วยหนักและเสียชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางหรือบุคคลในกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และผู้ตั้งครรภ์ รวมถึงเด็กเล็กด้วย คนกลุ่มเหล่านี้ รวมทั้งผู้ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มดังกล่าวข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมตามสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน

“วัคซีนที่บริษัทพัฒนาขึ้น ผ่านการศึกษาที่เข้มงวดและรัดกุม ตามมาตรฐานสูงสุด  มีการตรวจสอบรับรองจากองค์กรที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศทั่วโลก จนได้รับการขึ้นทะเบียน และมีกระบวนการเฝ้าระวัง ติดตาม และรายงานในเรื่องความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ด้วยข้อมูลทางวิชาการที่หนักแน่น จึงให้ความมั่นใจได้ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีข้อมูลข่าวสารออกมามากมายตามสื่อต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความสับสน จึงขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสาร โดยหมั่นตรวจสอบข้อมูลกับแหล่งข้อมูลเชื่อถือได้ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข” นพ. นิรุตติ์กล่าว

##########################

แหล่งข้อมูลอ้างอิงที่ใช้เขียนข่าว

  1. แถลงข่าวสื่อมวลชน “ปีใหม่วิถีใหม่ สุขภาพไทย ปลอดภัยยั่งยืน”, กรมควบคุมโรค, 14 มกราคม 2568
  2. กลุ่มพัฒนาระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาโรคติดต่อ, กองระบาดวิทยา, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, ข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=49225&deptcode=brc&news_views=1601
  3. World Health Organization & UNICEF. Pneumonia: the forgotten killer of children. Accessed 8 Feb 2025. Available at https://www.who.int/publications/i/item/9789280640489
  4. สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน). Available at https://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statMONTH/statmonth/#/mainpage 

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *