9 มทร.ยื่น ป.ป.ช.ค้าน แจ้งทรัพย์กรรมการสภา
ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2561 ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับหลังวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน หรือวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ที่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามประกาศฉบับนี้ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งพบว่าในข้อ 7.8.7 กำหนดให้กรรมการและผู้บริหารสูงสุดในสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ทั้งนายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี กรรมการสภามหาวิทยาลัย ต้องปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ด้วยนั้น
นายวิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน ในฐานะประธานที่ประชุม 9 อธิการบดี มทร. เปิดเผยภายหลังการประชุม 9 อธิการบดี มทร.ว่า ที่ประชุมได้หยิบยกกรณีที่ ป.ป.ช.ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ขึ้นมาพิจารณา โดยอธิการบดีแต่ละแห่งต่างเป็นห่วงต่อกรณีที่ ป.ป.ช.กำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัย รวมถึงคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำให้นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย สายผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่ง มทร.แต่ละแห่งมีจำนวน 15 คน ส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน ต่างแสดงความจำนงที่จะขอลาออกจากการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยากที่จะต้องมายื่นบัญชีทรัพย์สิน เพราะการเข้ามานั่งเป็นนายกสภา หรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยเข้ามาด้วยใจ ไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรอยู่แล้ว และที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ากว่ามหาวิทยาลัยจะทาบทามขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้เข้ามาช่วยงานมหาวิทยาลัยด้วยการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ถือเป็นเรื่องที่ยากมาก และบุคคลเหล่านี้ก็เข้ามาช่วยงานด้วยความเสียสละ มีค่าตอบแทน อย่างมากก็แค่เบี้ยประชุมในแต่ละครั้งเพียงไม่กี่บาท หากแต่ละคนต้องลาออกไปเพียงเพราะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และที่ประชุม 9 อธิการบดี มทร.เองก็เกรงว่าหากนายกสภา หรือกรรมการสภาต่างตบเท้าลาออกกัน สภา มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็จะกลายเป็นสุญญากาศไม่สามารถทำงานต่อไปได้จะกลายเป็นปัญหาต่อการ บริหารงานของมหาวิทยาลัยในที่สุด
อธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวอีกว่า จากผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้เองที่ประชุม 9 อธิการบดี มทร.จึงมีมติให้ออกหนังสือถึงประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อขอให้ทบทวนการกำหนดตำแหน่งนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวอาจส่งผลต่อการสร้างภาระหน้าที่ให้กับนายกสภา และกรรมการสภามหาวิทยาลัย เกินสมควร จนอาจลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่ได้ ทั้งนี้ที่ประชุม 9 อธิการบดี มทร.ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาทบทวนในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอธิการบดี รองอธิการบดี และกรรมการสภามหาวิทยาลัยสายข้าราชการประจำ อีก 14 คน ยินดีที่จะยื่นบัญชีทรัพย์สินตามที่ ป.ป.ช.กำหนด