เจาะลึกเอสซีจี องค์กรเป็นเลิศด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม ปีที่ 9
จากเวที “Thailand Corporate Excellence Awards”
ในยุคที่สังคมและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกำไรเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะทำให้องค์กรสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้ หากแต่จะต้องคำนึงถึงการดำเนินงานที่ช่วยสร้างสมดุลทั้งด้านสังคมที่มั่นคงและสิ่งแวดล้อมที่ดี ไปพร้อมๆ กับการเติบโตทางธุรกิจด้วย
ด้วยเหตุนี้ ในเวทีมอบรางวัลให้แก่องค์กรที่เป็นเลิศในการบริหารจัดการด้านต่างๆ อย่าง “Thailand Corporate Excellence Awards 2018” ที่จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารระดับสูงทั่วประเทศและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจึงตัดสินให้ “เอสซีจี” เป็นองค์กรที่ได้รับรางวัลความเป็นเลิศด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน / ความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นปีที่ 9 นอกเหนือจากรางวัลอื่นๆ ที่เอสซีจีได้รับอีก 7 รางวัล
ความร่วมมือ คือหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President – Polyolefins and Vinyl Business ธุรกิจเคมิคอลส์ และประธานคณะทำงาน Circular Economy เอสซีจี กล่าวว่า “ปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้เอสซีจีได้รับรางวัลนี้ต่อเนื่องถึง 9 ปี เกิดจากความร่วมมือของพนักงานทุกคนที่มี Passion ในการทำงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ตั้งแต่การวางแผนจนถึงการปฏิบัติจริง รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างกัน ทำให้โครงการต่างๆ ขับเคลื่อนได้อย่างสัมฤทธิ์ผลและยั่งยืน โดยเชื่อว่าสิ่งที่เราทำจะมีส่วนช่วยให้ประเทศชาติของเราเติบโตอย่างยั่งยืนได้เช่นกัน
สำหรับการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น เอสซีจีมีจุดยืนที่มั่นคงว่าเราจะพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานในทุกๆ ด้านอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้ริเริ่มและถ่ายทอดประสบการณ์ในการพัฒนากระบวนการผลิตและจัดจำหน่ายให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เน้นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ตั้งแต่การผลิตที่ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด พัฒนาให้สินค้ามีคุณภาพสูง สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คงทน และคุ้มค่าที่สุด นอกจากนี้ หลังการใช้งานของผู้บริโภค ยังสามารถนำกลับมาเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตเดิมหรือกระบวนการอื่นที่ใกล้เคียงได้ด้วย”
ความมุ่งหวังต่อไปของเอสซีจี
“หากแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสามารถขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวาง และอยู่ในจิตสำนึกของทุกคน การใช้ทรัพยากรของประเทศก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดประโยชน์กับภาพรวมของประเทศและโลกต่อไป” นายศักดิ์ชัย กล่าวสรุป
ทั้งหมดนี้คือความตั้งใจของเอสซีจีที่มุ่งมั่นสร้างคุณค่าเพื่อตอบแทนสังคม และหวังให้องค์กรอื่น ๆ นำไปต่อยอดสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นร่วมกันได้