วช. จัดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562 พร้อมโชว์ผลงานกว่า 1,500 ผลงาน
คณะรัฐมนตรี ได้กำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันประดิษฐ์ เพื่อน้อมรำลึกถึง
วันประวัติศาสตร์ในการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตร
ซึ่งนับได้ว่าเป็น “สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย ของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยและ เป็นครั้งแรกของโลก รวมถึงทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักประดิษฐ์ไทยในการสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และสังคมส่วนรวมได้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช. )ได้ร่วมกับ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562” (Thailand Inventors’ Day 2019) ระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2562 ณ Event Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจาก พลอากาศเอกประจิน
จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีพร้อมมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2562 และรางวัล 2018 TWAS Prize for Young Scientists in Thailand ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 09.00 น.
สำหรับการจัดงานวันนักประดิษฐ์ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 21 เพื่อนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพร้อมใช้และความก้าวหน้าด้านการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศให้เกิดการขยายผล และนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) และเป้าหมายประเทศไทย 4.0
ในการนำการวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมของประเทศ ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อความก้าวไกลของประเทศ”
กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร นิทรรศการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชฯ บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” นิทรรศการรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย และบัญชีนวัตกรรมไทย และนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน แบ่งออกเป็น 7 กลุ่มเรื่อง ได้แก่ 1) สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการเกษตร 2) สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อพลังงาน 3) สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม 4) สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการแพทย์และสาธารณสุข 5) สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 6) สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการศึกษาและภูมิปัญญาไทย และ 7) สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อความมั่นคงปลอดภัย มหกรรมสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ
นอกจากนี้ ยังมีการประชุม/สัมมนา และการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ การประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชนโครงการ “รางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่” และการประกวดสิ่งประดิษฐ์โครงการ “Innovation For Street Food” การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การประดิษฐ์เพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้
การจัดเสวนาและกิจกรรมบนเวที อาทิ การนำเสนอผลงานประดิษฐ์คิดค้นในภาคการสาธิต บรรยาย การพูดคุยกับนักประดิษฐ์เจ้าของไอเดีย รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้สิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยี และการบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจสำหรับนักประดิษฐ์ ที่ต้องการต่อยอดผลงานสู่การเพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น