เปิดหลักสูตรอาหารไทย สำหรับผู้สูงอายุ รองรับ Grand Age

เปิดหลักสูตรอาหารไทย สำหรับผู้สูงอายุ รองรับ Grand Age


สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดอบรมหลักสูตร
การพัฒนาหลักสูตรอาหารไทยเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต : การประกอบอาหารไทยสุขภาพสำหรับ Grand Age ระหว่างวันที่ 23 – 24 มกราคม 2562 เวลา 09.00 น. ณ อาคาร 12 ห้องปฏิบัติการโรงเรียนการอาหารนานาชาติ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า
ปัจุบันการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แต่ภายในห้องเรียน สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง หลักสูตรการประกอบอาหารสุขภาพสำหรับ Grand Age นี้ได้พัฒนาขึ้นเพื่อ
เป็นการแนะนำการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีสุขภาพดีด้วยอาหารสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความมั่นใจในการประกอบอาหารรับประทานเองอย่างเหมาะสม


โครงการวิจัยการพัฒนาหลักสูตรอาหารไทยเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นโครงการวิจัยย่อย ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยตอบสนองนโยบายเป้าหมายรัฐบาล และตามวาระระเบียบวาระแห่งชาติ กลุ่มเรื่อง ครัวไทยสู่ตลาดโลก ประจำปีงบประมาณ 2560 ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก วช. โดยมี อาจารย์จันทร์จนา ศิริพันธ์วัฒนา และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ทำการศึกษาและพัฒนาหลักสูตรอาหารไทยให้กับ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้สูงวัย กลุ่มวัยเรียน กลุ่มนักเรียนไทยที่จะไปใช้ชีวิตในต่างแดน และกลุ่มภริยาทูต จากการศึกษาพัฒนาหลักสูตรกลุ่มผู้สูงวัยพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเน้นทานอาหารที่ย่อยง่าย จุดนี้เองจึงเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์หลักสูตรการเรียนการสอน “แนะนำการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีสุขภาพดีด้วยอาหาร” แก่กลุ่มผู้สูงวัย โดยได้มีการสอนการต้มข้าวสำหรับมื้อเช้าหลาย ๆ แบบ และวิธีการเตรียมน้ำสต๊อกแต่ละแบบ เช่น ข้าวต้มกุ้ง ข้าวต้มไก่ ข้าวต้มหมู ข้าวต้มธัญพืช และเมนูอาหาร 4 ภาค ซึ่งเป็นเมนูอาหารสุขภาพและเมนูอาหารที่ผู้สูงวัยสนใจ ได้แก่ ภาคกลาง เช่น ต้มยำปลากะพง น้ำพริกป่นปลาทูและผักเคียง และเต้าหู้สามรส ภาคใต้ เช่น
ต้มปลาทูใส่ขมิ้น หมี่กะทิปู และไก่ทอดหาดใหญ่ ภาคอีสาน เช่น ต้มผักหวานใส่ปลา ปลานึ่งจิ้มแจ่ว และหมกเห็ด
และภาคเหนือ เช่น แกงแค น้ำพริกอ่องและผักเคียง ฮังเลซี่โครงหมู


หลังจากโครงการการพัฒนาหลักสูตรอาหารไทยเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้ทำการประชาสัมพันธ์หลักสูตร เพื่อทดสอบและประเมินหลักสูตร สิ่งที่ได้กลับมา คือมีผู้สูงวัยมาสมัครเรียนทำอาหาร เต็มภายใน 1 วัน และยังพบว่า มีผู้สนใจเรียนอีกจำนวนมาก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้สูงวัยสนใจเรียน คือ 1. ผู้สูงวัยไม่ได้ทำงานแล้วแต่ยังต้องอยู่ในสังคม 2. ต้องการนำความรู้ไปเผยแพร่ให้สังคมรอบข้างที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศได้ในทางอ้อม และ3. อยากทำอาหารให้ครอบครัวรับประทาน เพื่อเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ ผู้สูงวัยยังต้องการเรียนหลักสูตรอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับอาหารไม่ว่าจะเป็นอาหารนานาชาติ ขนมอบ อาหารว่าง และอาหารอื่น ๆ จากที่กล่าวมา หลักสูตรฝึกอบรมอาหารไทยที่พัฒนาให้เหมาะสมสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างสังคมการเรียนรู้ให้กับวัยผู้สูงอายุได้ โดยทำให้เกิดผลทางอ้อม คือ ผู้สูงอายุได้มีสังคม ไม่อยู่โดดเดี่ยว


นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาหลักสูตรต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับกลุ่มเด็กวัยเรียน โดยใช้วัตถุดิบที่เป็นอาหารท้องถิ่น ได้แก่ ข้าว มะพร้าว และน้ำตาล เป็นส่วนสำคัญในการเรียนรู้ เพื่อให้เยาวชนได้ซึมซับวัตถุดิบจากท้องถิ่นไทย และแนวทางการปรุงอาหารไทยที่รับวัฒนธรรมการทำขนน มาจากโปรตุเกส หลักสูตรสำหรับ
กลุ่มนักศึกษาที่จะไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน ทางคณะนักวิจัยได้พัฒนาให้ผู้เรียนรู้จักเทคนิคการปรุงอาหารไทยในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถใช้ในการดำรงชีวิตในต่างแดน รวมถึงการประยุกต์ใช้วัถตุดิบที่มีในต่างประเทศในอาหารไทยให้เหมาะสม และหลักสูตรสำหรับผู้ที่ทำงานในสถานทูต หรือ ภริยาทูต มุ่งเน้นที่จะสื่อสารวัฒนธรรมผ่านอาหารไทยที่มีกระบวนการปรุงที่ประณีตและตั้งใจ โดยมีวัถตุดิบของไทยที่มีรสชาติ และกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ เพื่อให้ผู้คนจากต่างถิ่นได้เข้าใจความเป็นมาของรากเหง้าวัฒนธรรมการกินอยู่ของคนไทย

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *