ดศ.- ศธ.-สพฐ.- ส.อุตสาหกรรมเทคโนฯ
เปิดค่าย “Thailand ICT Youth Challenge 2018 ปี 5”และโครงการ “DigiEng Teacher Challenge 2018”
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ (MOE) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC) และ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) จัดโครงการ “Thailand ICT Youth Challenge 2018 ปี 5” ซึ่งเป็นค่ายเยาวชนไอซีทีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ภายใต้โจทย์จากองค์กรและแบรนด์ชั้นนำ “เมื่อภาพลักษณ์ของแบรนด์และองค์กรของคุณ จะกว้างไกลกว่าที่คิด และจินตนาการ ผ่านการสร้างสรรค์และถ่ายทอดออกมาเป็น Digital Content” โดยมุ่งเน้นทักษะ digital skills ด้วยการใช้ digital technology แบ่งการแข่งขันทั้งระดับชั้นประถมปลายในโปรแกรมเพาเวอร์พอย มัธยมศึกษาตอนต้นในภาพยนตร์สั้น และมัธยมศึกษาตอนปลายในโมบาย แอปพลิเคชัน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีนักเรียนผ่านเข้ารอบเพื่อเข้าค่ายเยาวชนมากกว่า 200 คน จากทั่วประเทศ
โดยในปีนี้ยังมีโครงการจัดการประกวดแผนการจัดการเรียนรู้และสื่อการเรียนรู้ขึ้น ทุกรายวิชาและทุกชั้นปี ภายใต้ชื่อโครงการประกวด DigiEng Teacher Challenge 2018 โดยให้ครูใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีร่วมกับภาษาอังกฤษ ในการสร้างสื่อการเรียนการสอนทุกสาระวิชา การใช้สื่อ ICT บวกกับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เพื่อการสนับสนุนการเรียนการสอนในรูปแบบ Project-Based Learning โดยมีคอนเทนต์จากแบรนด์หรือองค์กรต่างๆ นำมาสร้างสรรค์ผ่านสื่อดิจิทัล โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้จากการใช้สื่อ ตลอดจนมีความต่อเนื่องในการเรียนรู้จากสื่อ ICT อื่นๆ ในโรงเรียน ทั้ง 2 โครงการ มีองค์กรและแบรนด์ชั้นนำร่วมสนับสนุนมากมาย อาทิ บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด, บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จํากัด, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด, บริษัท ริโก้ (ประเทศไทย) จํากัด, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นต้น
การแข่งขันของโครงการ “Thailand ICT Youth Challenge 2018 ปี 5” ในครั้งนี้ ประกอบด้วยหัวข้อการแข่งขัน ใน 3 ระดับ คือ 1.ประถมศึกษาตอนปลาย Digital Storytelling ด้วยโปรแกรมเพาเวอร์พอย โจทย์ในการแข่งขันจะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์หรือองค์กรแห่งอนาคต 2.มัธยมศึกษาตอนต้น Short Film หนังสั้นผ่านเลนส์ สร้างสรรค์จินตนาการผ่านบทภาพยนตร์ ภาพ และ เสียง ถึงแบรนด์หรือองค์กรว่านี่คือ My Corporate : My Brand 3.มัธยมศึกษาตอนปลาย สร้างสรรค์ Mobile Application สำหรับองค์กร หรือ แบรนด์ ในการสื่อสารองค์กร หรือ บริการ ให้สามารถนำไปพัฒนาต่อ เพื่อภาพลักษณ์ที่ดี Always Be With you โดยทีมนักเรียนที่ได้รางวัลชนะเลิศ จะได้รับทุนการศึกษา 30,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล จากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และประกาศนียบัตรจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงศึกษาธิการ
โครงการประกวด DigiEng Teacher Challenge 2018 ให้ครูใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีร่วมกับภาษาอังกฤษ ในการสร้างสื่อการเรียนการสอน ทุกสาระวิชา เพราะปัจจุบันการศึกษาของเด็กไทยต้องพัฒนาควบคู่กันทั้งดิจิทัล และภาษาอังกฤษ โดยให้ครูส่งผลงานแผนการจัดการเรียนรู้และสื่อการเรียนรู้เข้ามา แล้วให้ทำการโหวตโดยมหาชน เป็นการระดมความคิดและประสบการณ์ของครูทั่วประเทศในการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการนำมาใช้จริง และเผยแพร่ให้ครูทั่วประเทศสามารถดาวน์โหลดไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการที่แตกต่างหลากหลายของผู้เรียนและบริบทของโรงเรียน ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และทักษะในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้และสื่อการเรียนรู้ของผู้สอนทั่วประเทศ นับเป็นมิติใหม่ของวงการครู และเป็นการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และช่วยยกระดับมาตรฐานการศึกษา ผู้ชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัล จำนวน 20,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศจากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และประกาศนียบัตรจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงศึกษาธิการ
ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “พันธกิจหลักของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งเน้นส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ครอบคลุมทั้งตลาดฮาร์ดแวร์ อุปกรณ์อัจฉริยะ ซอฟต์แวร์ บริการดิจิทัล ตลอดจนนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม การขยายตัวด้านการลงทุนในดิจิทัล ย่อมต้องเกิดจากบุคลากรหรือทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ ทักษะด้านดิจิทัลให้สอดรับกับตลาดในปัจจุบันทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนากำลังคนในกลุ่มเยาวชนและครูผู้สอนจะเป็นพื้นฐานในการผลิตกำลังบุคลากรได้อย่างดีเยี่ยม โครงการ Thailand ICT Youth Challenge และ DigiEng Teacher Challenge จึงตอบโจทย์และเปิดโอกาสให้แสดงความสามารถ เพิ่มพูนทักษะอย่างเต็มที่”
ดร.ประยูร หรั่งทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ส่งเสริมมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “กระทรวงศึกษาธิการได้นำแนวคิดการพัฒนาผู้เรียนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาปฏิบัติ เพื่อให้ตอบสนองต่อการทำงานในปัจจุบัน ไม่ว่าสาขาอาชีพใดก็ล้วนต้องเกี่ยวข้องกับการใช้ทักษะดิจิทัลไม่มากก็น้อย นอกจากนี้ สิ่งสำคัญย่อมต้องพัฒนาที่บุคลากรที่เป็นผู้สอน ทั้งผู้บริหารการศึกษา ผู้จัดการเรียนการสอน ให้ก้าวทันต่อความต้องการของตลาด การสอนผ่านการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ เป็นเครื่องมือที่ล้วนช่วยให้เข้าถึงองค์ความรู้ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น”
สมเกียรติ สรรคพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า “การบูรณาการเทคโนโลยีกับการเรียนการสอนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับครูในยุคปัจจุบัน การเพิ่มพูนทักษะความรู้ให้ตนเอง การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ย่อมถ่ายทอดไปสู่ผู้เรียนได้ตรงตามวัตถุประสงค์ การผลิตนวัตกรรมการเรียนการสอนช่วยแก้ปัญหาในชั้นเรียน ลดภาระงานครู สร้างความน่าสนใจต่อการรับสาร”
และคุณดิลก คุณะดิลก กรรมการสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย กล่าวว่า “โครงการ Thailand ICT Youth Challenge เป็นโครงการที่ได้รับการตอบรับอย่างดีมาตลอดจากทุกฝ่าย ทั้งเยาวชน ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ผู้เกี่ยวข้องในวงการเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นโครงการที่เพิ่มการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลให้กับเด็กและเยาวชนไทย อีกทั้งปีนี้ยังมีความพิเศษ มีการเพิ่มโครงการ DigiEng Teacher Challenge สำหรับครูผู้สอน ในการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เหมาะสมต่อความเข้าใจของนักเรียนแต่ละระดับชั้น หวังว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีอีกในปีต่อ ๆ ไป”