‘กีฬาเพาะกาย’ เปลี่ยนชีวิต
ศักรินทร์ แขวงกรุง
“นี่เป็นก้าวแรกและก้าวใหญ่ของผม ที่จะได้รับสิทธิ์สู่การเป็นนักกีฬาเพาะกายทีมชาติไทย” เสียงที่หนักแน่นของหนุ่มนักกีฬากล้ามล่ำ วัย 24 ปี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ศักรินทร์ แขวงกรุง หรือมอส แชมป์สมัยที่ 2 – กีฬาเพาะกายและฟิตเนสรุ่นแอธเลติกฟิสิกส์ชาย ความสูงไม่เกิน 175 ซม.
ท่ามกลางเสียงแซวก่อนที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่ว่า “ผอมแห้งแรงน้อย” น้ำหนักประมาณ 42 กก. และเป็นลูกเล่นที่โดนแกล้งอยู่เสมอในกลุ่มเพื่อน จึงพาให้มอสสนใจและทุ่มเทเวลาทั้งหมดกับกีฬาเพาะกาย เพื่อหวังที่จะเปลี่ยนชีวิตตนเองและครอบครัวไปสู่หนทางที่ดีกว่าเดิม สานฝันนักกีฬาอาชีพ
กีฬาเพาะกายและฟิตเนส มีระดับการแข่งขันที่ต่างกันไป มีดีเทลมากมาย เช่นในรุ่นโอเดล-จะเน้นร่างกาย หน้าตาและท่าทาง รุ่นแอธเลติก-จะเน้นความสมส่วน ส่วนเพาะกายจะเน้นความใหญ่ แข็งแรงและความดุดันของกล้ามเนื้อ ซึ่งล้วนจำเป็นต้องเรียนรู้ขั้นพื้นฐานเรื่อยไปจนถึงขึ้นสูง ต้องรู้กล้ามเนื้อและบอดี้แต่ละส่วน โดยเฉพาะการทำงาน เพื่อจะได้สร้างและพัฒนากล้ามเนื้อให้ชัดเจน สามารถแสดงกล้ามเนื้อได้อย่างถูกต้อง ใช้งานได้อย่างเต็มที่และลดอาการบาดเจ็บ
มอส มองว่าความท้าทายของกีฬาประเภทนี้คือการควบคุมตนเองทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ตั้งแต่การเตรียมตัว การแข่งขันบนเวทีและการดูแลตนเองหลังเสร็จสิ้นการแข่งขัน ยกอย่างเช่นเวทีล่าสุดที่แข่งขันจบไปในกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 46 ราชภัฏอุบลราชธานีเกมส์ จ.อุบลราชธานี ที่ต้องเตรียมร่างกายให้น้ำในร่างกายน้อยที่สุด ผิวหนังต้องบาง เพื่อตอนแข่งขันกล้ามเนื้อจะได้ชัดเจน ภายใต้การดูแลของโค้ช หรือที่เรียกกันว่าเทคนิคการควบคุมน้ำและโซเดียม และต้องควบคุมอาหาร บางมื้อก็ต้องจัดเตรียมและปรุงอาหารเองด้วยตนเอง “สิ่งสำคัญที่สุดคือจิตใจ ถ้าใจเราพร้อม เราก็จะทำได้” ผมว่านี่เป็นพื้นฐานที่นักกีฬาทุกคนเห็นตรงกัน
เส้นทางของมอส ที่เพิ่งจะคว้าแชมป์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสรุ่นแอธเลติกฟิสิกส์ชาย ความสูงไม่เกิน 175 ซม. มาครองเป็นสมัยที่ 2 นั้น ทำให้ได้รับสิทธิ์เป็นนักกีฬาทีมชาติไทย ชุดปี 2019 เพื่อเป็นตัวแทนนักกีฬาเพาะกายทีมชาติไทยที่จะไปแข่งขันเซาท์อีสเอเชีย นครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา
ไอดอลหรือต้นแบบนักเพาะกายที่ชื่นชอบ คือ Breon Ansley ซึ่งเป็น Professional Bodybuilder ระดับโลก สิ่งที่เขามีคือความเป็นตัวของตัวเองที่โดดเด่นและชัดเจน หากพูดถึงกล้ามเนื้อ ทุกคนสามารถสร้างมันขึ้นมาได้เหมือนกันหมด แต่ความเป็นตัวตนที่แสดงออกมา จะทำให้เกิดความแตกต่าง น่าจดจำ ซึ่งผมมองว่า Breon Ansley มีครบถ้วน
หลังเวทีเพาะกาย นักกีฬาทุกคนต้องเปลี่ยนสีผิวเดิม เป็นผิวสีแทน เพื่อเสริมมิติให้กับกล้ามเนื้อและบอดี้ในแต่ละส่วน สำหรับโชว์กล้ามเนื้อเรียกคะแนนจากคณะกรรมการ และหลายคนเลือกกำจัดขนเกือบทุกส่วนของร่างกายออก เพื่อความสวยงามและความสะดวกในการลงสี ไม่เพียงเท่านั้นหลังจบการแข่งขันต้องล้างสีออกทั้งหมดกลับสู่สภาพเดิม ดังนั้นการมีโค้ช ผู้ช่วยโค้ชหรือผู้ดูแล จะทำให้เราแข่งขันได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
“การออกกำลังกาย คือยาแห่งความหนุ่มความสาว” ถือเป็นเคล็ดลับสุขภาพดีของมอส ที่เป็นการกระตุ้นการทำงานของร่างกาย ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และจะต้องกินอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ได้สารอาหารครบ รวมทั้งพักผ่อนอย่างเต็มที่ “นี่คือเรื่องพื้นฐานที่ง่ายที่สุด แต่เชื่อว่ามีบางคนเท่านั้น ที่สามารถทำได้” มอส อธิบาย
หลายอย่างที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้มาจากความบังเอิญ แต่เป็นส่วนผสมของความตั้งใจ ความอดทน และความมีวินัยอย่างเคร่งครัด ภายใต้การควบคุมของโค้ช สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เคยลืมคือ “เสียงเชียร์และกำลังใจ” แม้จะเหนื่อยและกดดันเพียงใด เวลาแข่งขันบนเวทีแค่ได้ยินเสียงปรบมือ ก็เป็นแรงผลักดันให้ร่างกายและหัวใจซูบฉีดเพื่อไปต่อได้เสมอ กีฬานี้เข้ามาเปลี่ยนชีวิตผมหลายด้านจริง ๆ
“ขอบคุณประสบการณ์ดี ๆ ขอบคุณมหาวิทยาลัยที่คอยสนับสนุนอย่างเต็มที่ และขอบคุณเสียงปรบมือที่ผ่านมาทั้งหมด” มอสบอกว่าจากนี้ต่อไป “ต้องซ้อมหนักมาก…ทุ่มเททั้งกายและใจ เพื่อพัฒนาตนเองบนเส้นทางทีมชาติไทยให้ดีที่สุด”