เปิดโครงการ Brain Intelligence Conference (BIC)
“พัฒนาสมองสู่ความเป็นอัจฉริยะ”
สมาคมเยาวชนจิตอาสาพัฒนา ร่วมกับ มูลนิธิช่างภาพสื่อมวลชน และ บริษัท เอ ไอ เอ็ม อินลายน์ จำกัด จัดสัมมนาระดับนานาชาติ เสริมสร้างและยกระดับศักยภาพการเรียนรู้ ภายใต้โครงการ Brain Intelligence Conference (BIC) “พัฒนาสมองสู่ความเป็นอัจฉริยะ”
(20 ก.พ.62) ที่โรงแรม แรมแบรนดท์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ ศ.เกียรติคุณ ดร.เอนก หิรัญรักษ์ รองประธานมูลนิธิร่มเกล้าเยาวชน และประธานดำเนินโครงการ นางสาวณัชชา สมประสิทธิ์ นายกสมาคมเยาวชนจิตอาสาพัฒนา และนายอามีน ไรส์ (Mr. Amin Rais) ประธาน บริษัท เอไอเอ็ม อินลายน์ ประเทศไทย จัดแถลงข่าวงาน CSR ในชื่อ โครงการ Brain Intelligence Conference (BIC) มอบเป็น “ของขวัญ” ให้ประชาชนไทย ในการพัฒนาทักษะให้มีมาตรฐานเดียวกับระดับโลก อย่างยั่งยืน โดยมี ม.ล.สัญชัย ทองแถม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล บก.อำนวยการ ธุรกิจสื่อในเครือผู้จัดการ นายกำพล พิริยะเลิศ ประธานมูลนิธิช่างภาพสื่อมวลชน อาจารย์เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป นักเขียนหนังงสือสำหรับเด็ก (นามปากกา “ตุ๊บปอง”) คริสโตเฟอร์ ไรท์ เจ้าของโดรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ ร่วมแถลงข่าว ในครั้งนี้ด้วย
ศ.เกียรติคุณ ดร.เอนก หิรัญรักษ์ รองประธานมูลนิธิร่มเกล้าเยาวชน และประธานดำเนินโครงการ กล่าวว่า มูลนิธิฯ และ บริษัท เอไอเอ็ม อินลายน์ ประเทศไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญ ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่เป็นต้นทุนตั้งต้น [Initial Capital Endowment] และศักยภาพพื้นฐานของสังคม ในด้านการยกระดับศักยภาพสมองผ่านการเรียนรู้ ได้เห็นชอบร่วมกัน จัดทำโครงการ “พัฒนาสมองสู่ความเป็นอัจฉริยะ” Brain Intelligence Conference (BIC) ที่ได้รับการบันทึกสถิติโลกในกินเนสส์บุ๊ค (Guinness Book of World Records) ทางด้านความจำ การอ่านเร็ว และการพัฒนาทักษะอย่างรวดเร็ว มาถ่ายทอด และปลูกฝัง “เทคนิคการสร้างระบบการจำ การอ่าน การเรียนรู้ และการพัฒนาทักษะอย่างรวดเร็ว” ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาศักยภาพ ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ให้กับ “คนไทย” เป็นครั้งแรก นับเป็นโอกาสสำคัญยิ่งของประชาชนไทย ทุกลุ่ม ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ เพื่อนำไปใช้ในการเรียน การทำงาน และชีวิตประจำวัน ที่เร่งรีบและทันต่อเทคโนโลยี ในทุกรูปแบบ สู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน ต่อไป
ด้านนางสาวณัชชา สมประสิทธิ์ นายกสมาคมเยาวชนจิตอาสาพัฒนา (องค์กรสาธารณประโยชน์) ซึ่งมีภารกิจหลักด้านพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนทุกระดับ โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติกิจกรรมทางสังคมในทุกมิติมากว่า 10 ปี กล่าวเสริมว่า การเข้าร่วมขับเคลื่อนโครงการในครั้งนี้ เพราะเห็นว่าเป็นโครงการ CSR ที่ดีอย่างยิ่ง ในการพัฒนาพื้นฐานด้านสมองของมนุษย์ และตรงกับนโยบายของสมาคมฯ ในการมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชน เพื่อให้มีศักยภาพทัดเทียมนานาประเทศอยู่แล้ว และทั้ง 3 วิทยากร ยังได้จัดสรรเวลามาพร้อมกัน เพื่อให้ประชาชนไทย ได้รับประโยชน์สูงสุด สามารถนำไปปรับใช้ได้ทันทีในชีวิตประจำวันของทุกคน โดยมีกำหนดจัดงานหลัก ในวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ 30-31 มีนาคม พ.ศ. 2562 พร้อมกาล่าดินเนอร์ ณ อิมแพค เมืองทองธานี และยังมีรอบพิเศษหลักสูตรครึ่งวัน ในช่วงวันที่ 26-28 มี.ค.2562 ให้กับผู้ที่สนใจ แต่ไม่สามารถมาเข้าร่วมงานทั้งสองวันนี้ได้ โดยการบูรณาการ ระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้บุคคลทั่วไป รวมถึง ครู อาจารย์ และ ผู้นำเยาวชนทุกระดับ สามารถเข้าร่วมงานได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดด้วย
ซึ่งเป้าหมายในการจัดงานมุ่งเน้นการพัฒนารากฐานการเรียนรู้ บนพื้นฐานของการพัฒนาสมอง โดยเชิญ สุดยอดอัจฉริยะของโลก มาพร้อมกันถึง 3 ท่าน อาทิเช่น
1.Mr.Howard Berg แชมป์การอ่านที่เร็วที่สุดในโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนการเรียนรู้แบบรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ได้รับการบันทึก ในกินเนสส์บุ๊ค ตั้งแต่ปี 1990 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใดสามารถทำลายสถิติของเขาได้ ด้วยความสามารถในการอ่านข้อความมากกว่า 25,000 คำ ในเวลาเพียง 1 นาที (ประมาณเท่ากับ การอ่านหนังสือ 80 หน้า ในเวลา 60 วินาที หรือ อ่าน 1 หน้า ใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที) และสามารถเขียนได้มากกว่า 100 คำ ในเวลา 1 นาที ได้รับการยอมรับจาก CEO ระดับโลกกว่า 500 องค์กร ในการใช้กลยุทธ์การอ่านเพื่อการบริหารจัดการข้อมูลมหาศาลขององค์กร, ได้รับเชิญไปพูดในรายการวาไรตี้ กว่า 1,100 รายการ กว่า 100 ประเทศทั่วโลก รวมถึงยอดขาย “Super Reading Secrets” หนังสือที่มียอดขายดีที่สุด ที่มีการพิมพ์ช้าถึง 28 ครั้ง โดยเฉพาะหนังสือ “Speed Reading The Easy Way” สำหรับนักเรียน ที่สร้างรายได้ให้กับ Howard กว่า 65 ล้านเหรียญ/ปี เป็นโปรแกรมการเรียนด้วยตัวเอง ที่ขายดีที่สุดตลอดกาล
2.Mr.Algirdas Karalius ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างและพัฒนาทุกทักษะอย่างรวดเร็ว ผู้คิดค้นเทคนิคการสอนแบบรวดเร็ว ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการสร้างและพัฒนาทักษะใดๆ ก็ได้ตามที่ต้องการ ผู้เชี่ยวชาญอันดับ 1 จากแถบยุโรปในด้านของการพัฒนาทักษะอย่างรวดเร็ว เขาได้รับรางวัลรางวัลอันทรงเกียรติของประเทศลิทัวเนียในปี 2538 และได้รับรางวัลอันทรงเกียรติอีกมากมาย อาทิ เขามีประสบการณ์การสอนมาแล้วถึง 27 ปี ใน 19 ประเทศ Algirdas เขียนหนังสือเล่มแรกของเขาชื่อ “The Instinct of Success” และกลายเป็นหนึ่งในนักพูดที่สร้างแรงบันดาลใจที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุโรปตะวันออก Algirdas Karalius มีความสามารถในการสอนทักษะในหลากหลายด้าน ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ได้แก่ ทักษะการท่องจำอย่างรวดเร็ว ทักษะการอ่าน และทักษะการคำนวณเลขในใจ และเขาเป็นผู้แต่งหนังสือจำนวนมากกว่า 15 เล่ม ในเรื่องของการเรียนรู้ทักษะต่างๆ แบบมีประสิทธิผล อาทิ การเรียนวาดรูป การเล่นดนตรี การเรียนพิมพ์ดีด การประมวลผลข้อมูล การจำ และวิธีการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศแบบรวดเร็วที่สุด ซึ่งวิธีการของเขาได้ถูกนำไปใช้ในการเรียนรู้ภาษาต่างๆ มากมายๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน ภาษาอิตาเลียน ภาษาฮิบรู เป็นต้น
3.Dave Farrows ผู้มีความจำยอดเยี่ยมที่สุดในโลก และผู้คิดค้น “Farrow Method” ซึ่งเป็นโปรแกรมพัฒนาทักษะด้านการเรียนรู้ ได้รับการพิสูจน์และรับรองผลจากการศึกษาทางด้านประสาทวิทยา ที่ได้รับความนิยมและ ยอมรับในระดับนานาชาติ Dave เป็นชาวแคนาดา วัย 43 ปี อดีตเป็นเด็กสมาธิสั้น มีปัญหาด้านระบบประสาท ได้เพียรพยายาม ฝึกทักษะตนเอง จนกระทั่ง อายุ 21 ปี Dave ได้รับการบันทึกสถิติลงกินเนสส์บุ๊คเป็นครั้งแรก และได้รับการบันทึกสถิติลงกินเนสส์บุ๊ค ด้านผู้ที่มีความจำยอดเยี่ยมที่สุดในโลก อีกเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2550 ด้วยสถิติการจำไพ่ป๊อก 52 ใบ ที่สับและสุ่มจับ ได้ถูกต้องตามกฎของ Guinness Record (ทั้งหมด 2704 ใบ) ด้วยการมองผ่านตาเพียงครั้งเดียว จวบจนปัจจุบัน ยังไม่มีใครลบสถิติของเขาได้เลย และ โปรแกรม Farrow Method ของเขา ได้รับการพิสูจน์และรับรองผลจากการศึกษาทางด้านประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัย McGill ยังคงเป็นโปรแกรมพัฒนาทักษะด้านการเรียนรู้ ที่ได้รับความนิยมและ ยอมรับในระดับนานาชาติ มีจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก
การข้ามฟ้ามาไขความลับของทั้ง 3 อัจฉริยะ ครั้งแรกในประเทศไทยนี้ จะเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ การจัดกิจกรรมสังคม (CSR) ระดับโลก ในการ “ปลดล็อคสมอง เพื่อเข้าถึงศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ในมาตรฐานโลก สู่การพัฒนาความเป็นอัจฉริยะของทุกคน” ให้พร้อมรับ กับความเปลี่ยนแปลง ของโลกยุคดิจิตอล, Innovation, 5G และ 5.0 ในอนาคตต่อไป