“ไอทีดี”เผยข้อมูลรายงานวิจัยแนวโน้มทิศทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

“ไอทีดี”เผยข้อมูลรายงานวิจัยแนวโน้มทิศทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย: ก้าวสู่นวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อความเป็นเลิศด้านการพัฒนา แนะภาครัฐเร่งสร้างความตระหนักให้กับกลุ่ม SMEs พร้อมประเมินตนเอง เพื่อให้สามารถพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ไอทีดี เผยผลการศึกษาเแนวโน้มเรื่อง ทิศทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย : ก้าวสู่นวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อความเป็นเลิศด้านการพัฒนา โดยแนะภาครัฐเร่งสร้างความตระหนักให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย พร้อมกับจัดทำรายงานประเมินตนเอง เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนการดำเนินการให้ทัดเทียมกับระดับสากลได้

ดร.ปิยะพร เอี่ยมฐิติวัฒน์ รองผู้อำนวยการ (วิชาการ) รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) แถลงข่าวสรุปรายงานสาระสำคัญของงานวิจัยเรื่อง “แนวโน้มทิศทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย: ก้าวสู่นวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อความเป็นเลิศด้านการพัฒนา” ว่า จากการศึกษาแนวโน้มทิศทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยพบว่า ในการวัดความสำเร็จการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยดูจากดัชนีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index) ในปี 2561 (จัดทำโดย Bertelsmann Stiftung and Sustainable Development Solutions Network) พบว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 59 จากจำนวนทั้งสิ้น 156 ประเทศ เมื่อพิจารณาความสำเร็จรายเป้าหมาย พบว่า ประเทศไทยสามารถดำเนินการบรรลุเป้าหมายได้เป็นอย่างดี คือ เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน และเป้าหมายที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล ส่วนเป้าหมายอื่นๆ ยังค่อนข้างห่างไกลการดำเนินการตามกรอบเป้าหมายเป็นอย่างมากที่ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายในเวลาอันใกล้นี้


ทั้งนี้ ไอทีดีสามารถสรุปประเด็นเชิงวิเคราะห์ที่สำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยได้ คือ 1. ความสอดคล้องขององค์ประกอบในการประเมินตาม SDG Index and Dashboards ซึ่งหากพิจารณาเปรียบเทียบลำดับของประเทศไทยอาจเห็นว่ามีลำดับที่ลดลง แต่ในความเป็นจริง องค์ประกอบที่ใช้ในการประเมินปี 2561 กับ 2560 มีความแตกต่างกัน ส่งผลให้ผลการประเมินทั้ง 2 ปี ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ จากรายละเอียดข้างต้น แสดงให้เห็นว่าองค์ประกอบในการประเมินมีการปรับเปลี่ยน ทำให้องค์ประกอบในการประเมินไม่สอดคล้องกัน ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรมีการจัดทำรายงานการประเมินตนเอง (Self-Assessment) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำกับติดตามการดำเนินงานของประเทศที่สามารถสะท้อนสภาพความเป็นจริง 2. ความไม่สม่ำเสมอของข้อมูลในการจัดทำ SDG Index and Dashboards Report ในการจัดทำ SDG Index and Dashboards Report พบว่า ข้อมูลที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์และจัดทำรายงาน เป็นข้อมูลซึ่งได้มาจากการสำรวจในภาคประชาสังคม ดังนั้น ข้อมูลบางชุดอาจได้มาจากแหล่งข้อมูลที่มีความเอนเอียง (Bias) ซึ่งส่งผลกระทบกับการวิเคราะห์ในภาพรวม ดังนั้น ฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรเร่งทำความเข้าใจกับภาคประชาสังคม ในการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ข้อมูลที่ได้มีความถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และ 3. ประเทศไทยมีผลการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับปานกลาง เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของไทยในปี 2561 ภายใต้กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน พบว่า ไทยมีผลการดำเนินงานในระดับปานกลาง โดยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับกัมพูชา ติมอร์-เลสเต และเวียดนาม และดีกว่า อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา และฟิลิปปินส์ แต่ยังตามหลังบรูไน มาเลเซีย และสิงคโปร์ เนื่องจากกลุ่มประเทศดังกล่าวสามารถบรรลุเป้าหมาย และใกล้บรรลุเป้าหมายได้ในจำนวนที่มากกว่าไทย อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะจำนวนเป้าหมายที่ไทยยังห่างไกลต่อการบรรลุผลสัมฤทธิ์ ซึ่งเท่ากับ 15 เป้าหมายจากทั้งหมด 17 เป้าหมายนั้น ถือว่ามีจำนวนสูงสุดในอาเซียน เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย และเมียนมา ขณะที่กัมพูชา และเวียดนาม ที่มีจำนวน 14 เป้าหมาย ตามลำดับ ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวนี้ย่อมสะท้อนถึงความจำเป็น ที่ไทยต้องผลักดันและขับเคลื่อนเชิงนโยบายในมิติต่าง ๆ อีกมากมายตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งให้เกิดความก้าวหน้าในการบรรลุผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมในระยะต่อไป


ดร.ปิยะพร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากบทวิเคราะห์ดังกล่าวสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 5 ประเด็น ได้แก่
1. การจัดทำรายงานการประเมินตนเอง (Self-Assessment Report) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตรวจสอบและยืนยันกับรายงานผลการประเมินจากองค์กรระหว่างประเทศ
2. การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการประเมินตามรายงาน SDG Index and Dashboards ซึ่งภาคเอกชนและภาคประชาสังคม อาจยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการประเมินตามรายงาน SDG Index and Dashboards มากเพียงพอ ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้สำเร็จได้ตามที่ควรจะเป็น ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการประเมินตามรายงาน SDG Index and Dashboards เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนการดำเนินการ ให้สอดคล้องกับแนวทางการประเมินตามบริบทสากล
3. การสร้างความตระหนักให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) บริษัทขนาดใหญ่ส่วนมากสามารถดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เป็นอย่างดี แต่กลุ่มที่ต้องเร่งสร้างความตระหนักเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดีขึ้น คือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เนื่องจากกลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีเป้าหมายในการดำเนินงานโดยมุ่งเน้นการสร้างผลกำไรเชิงพาณิชย์ในระยะสั้นเป็นหลัก ทำให้อาจไม่คำนึงถึงการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่าที่ควร จึงควรเร่งสร้างความตระหนักรู้ในมิติของการสร้างความสมดุลระหว่างการสร้างผลกำไรเชิงพาณิชย์ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานการพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม และการพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน
4. การพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบาย โดยในปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐมีการมอบหมายงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติยังมีประเด็นติดขัดโดยเฉพาะการดำเนินงานด้านนโยบาย ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน ควรพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบายให้มีความสอดคล้องกัน โดยมีการบูรณาการทำงานตามภารกิจหลักของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงคิดค้นด้านนโยบายแนวใหม่ที่มีประสิทธิผลสูง (New Effective Policies) เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกเป้าหมายได้ภายในปี ค.ศ.2030 และ
5. การจัดลำดับความสำคัญของประเด็นเชิงนโยบายที่มีความจำเป็นเชิงด่วนของประเทศ ประเด็นสำคัญเชิงนโยบายที่ไทยจะต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญตามผลการดำเนินงานภายใต้กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย ก) การส่งเสริมสุขภาพที่ดีและความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะการต่อสู้กับโรคไม่ติดต่อ และการลดอุบัติเหตุทางถนน ข) การลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในมิติทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาระบบบำนาญและสวัสดิการที่ครอบคลุม เหมาะสม และเป็นธรรม การยกระดับรายได้และคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และแรงงานไร้ทักษะให้เสมอภาคกับแรงงานปกติ รวมถึงการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นอย่างทั่วถึง และ ค) การพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการดูแลคุณภาพของอากาศให้ปราศจากฝุ่นละอองและสิ่งปลอมปน และการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลที่ยั่งยืน

****************************
เกี่ยวกับ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (สคพ.)
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของรัฐบาลไทยโดยมีสถานะเป็นองค์การมหาชน สถาบันฯดำเนินงานโดยอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย อังค์ถัด องค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ และองค์กรระดับภูมิภาค ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2544 และได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤษภาคม 2545 มียุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน และพัฒนานวัตกรรมการจัดการความรู้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสอดคล้องกับประเด็นอุบัติใหม่ (Emerging Issues) เพื่อให้องค์กรบรรลุวิสัยทัศนในการเป็นองค์กรชั้นนำในการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคและอนุภูมิภาค

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *