“อนุทิน” เปิดการประชุมวิชาการ “ระบบสุขภาพไทย ยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง” ภายในงานยังมีการประชุมเลือกประธานแพทย์ชนบท โหวต“หมอสุภัทร” นั่งประธานชมรมแพทย์ชนบทคนใหม่

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการชมรมแพทย์ชนบทประจำปี2563 “ระบบสุขภาพไทย ยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง” และปาฐกถาในหัวข้อ “ระบบสุขภาพกับการเผชิญความท้าทายแห่งอนาคต”
นายอนุทิน กล่าวว่า ตนเองมีความตั้งใจที่จะทำงานกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากสมัยที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ไปเยี่ยมเยือนโรงพยาบาลชุมชนในชนบท พบว่าหลายแห่ง มีเตียงเรียงรายอยู่ริมทางเดิน จึงตั้งใจว่าจะพัฒนาให้โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์มีคุณภาพให้ได้ทั้งหมด ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในครั้งนี้ จึงสนับสนุนทุกทางเพื่อให้โรงพยาบาลมีการพัฒนามากขึ้น ให้บริการที่ดีขึ้น การทำงานต่อสู้กับโควิด19 ในครั้งนี้ชาวสาธารณสุขทุกคนได้ร่วมแรงร่วมใจกันจนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ขอฝากเรื่องความร่วมแรงร่วมใจกันในทุกส่วนของสาธารณสุขไว้ด้วย

ทั้งนี้ ในงานดังกล่าวมูลนิธิแพทย์ชนบทได้มีการมอบรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น ปีพ.ศ.2563 ในกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ นพ.วัฒนา พารีศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จ.หนองคาย นพ.ปราโมทย์ ศรีแก้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบึงโขงหลง จ.บึงกาฬ นพ.แมนวัฒน์ โชคสุวัฒน์สกุล สูตินรีแพทย์ประจำรพ.โชคชัย จ.นครราชสีมา โดยทั้งสามท่านได้บรรยายผลงานเชิงประจักษ์ที่ผ่านมา มุ่งเน้นหลักคิดที่ว่า คนชนบทต้องได้รับบริการที่ดีมีมาตรฐานไม่แตกต่างกัน แม้ว่าช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยจะยิ่งห่างขึ้นเรื่อยๆ แต่การแพทย์จะต้องมีส่วนในการลดความเหลื่อมล้ำ ให้คนจนมีสิทธิในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้ไม่แตกต่างกัน นั่นคือภารกิจของแพทย์ชนบทที่ต้องช่วยกันทำต่อไป

ในการประชุมชมรมแพทย์ชนบทในครั้งนี้ยังได้มีการเลือกตั้งประธานชมรมแพทย์ชนบทคนใหม่ โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ได้รับเลือกตั้งโดยเอกฉันท์ให้เป็นประธานคนใหม่แทน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ กล่าวว่า ภารกิจของชมรมแพทย์ชนบทในช่วงต่อไป คือการสนับสนุนให้แพทย์ชนบทรุ่นใหม่ได้ร่วมกันระดมสมองแก้ปัญหาของระบบสาธารณสุขในชนบทที่ยังมีอยู่ และพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิให้ดีขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสารที่สามารถสนับสนุนการแก้ปัญหาได้ทันท่วงที มีการประชุมร่วมกันผ่านระบบออนไลน์กันอย่างต่อเนื่อง โดยนำการพัฒนาที่ดี (Best practice) ของแต่ละแห่งมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน มีการส่งผ่านประสบการณ์จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง และเนื่องจากปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ที่มีอยู่ เป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ดังนั้นชมรมแพทย์ชนบทยังต้องมีหน้าที่ที่นำเสียงสะท้อนที่ได้รับจากคนในชุมชนมาให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามด้วย

“จุดแข็งของชมรมแพทย์ชนบทคือการได้ทำงานในพื้นที่ เข้าถึงชาวบ้าน รับทราบปัญหา ดังนั้นเราต้องนำปัญหามาให้กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลได้รับทราบและร่วมกันแก้ปัญหาโดยการดึงทุกภาคส่วนมาร่วมมือกันตนมั่นใจว่าพลังของแพทย์ชนบทจะช่วยเสริมพลังให้งานสาธารณสุขและสังคมไทยพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน” นพ.สุภัทร กล่าว

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.