กสศ.เปิดตัวระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ เครื่องมือช่วยรัฐวางแผนลงทุนการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ลดเหลื่อมล้ำได้จริง

นักวิชาการระบุ 10 ปี การศึกษาไทย ลงทุนมาก แต่คุณภาพยังไม่ถึงเป้าหมาย  กสศ.เสนอปฏิรูประบบงบ ปรับสูตรเงินรายหัว เน้นเด็กเป็นตัวตั้ง และสอดคล้องบริบทพื้นที่ ไม่ให้ รร.ขนาดเล็กเสียเปรียบ พร้อมกระจายงบการศึกษาให้ท้องถิ่นตัดสินใจบริหารเองได้ แก้ปัญหาตรงจุด

          เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดตัวระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติหรือ NEA ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้โครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (National Education Accounts: NEA)

          รศ.ชัยยุทธ  ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ รายงานสถานการณ์รายจ่ายด้านการศึกษาไทย เปรียบเทียบตั้งแต่ปี 2551-2561 ระบุว่า 10 ปี บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย ลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ไทยมีการลงทุนด้านการศึกษาถึง 816,463 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) นับว่าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม OECD (ประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.9 ต่อ GDP หากพิจารณารายจ่ายต่อหัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีอัตราเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนเงินลงทุนทั้งหมดแยกเป็นของภาครัฐ 618,427 ล้านบาท (76 เปอร์เซ็นต์) ส่วนอีก 198,036 ล้านบาท (24 เปอร์เซ็นต์) เป็นรายจ่ายของภาคครัวเรือนและภาคเอกชน

        รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวว่า กว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณแผ่นดิน ยังถูกนำมาใช้ด้านการศึกษาสูงสุดมาโดยตลอด นับตั้งแต่มีแผนปฏิรูปการศึกษาเมื่อปี 2542 แต่ผลลัพธ์ต่อผู้เรียนยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เมื่อพิจารณาจากคะแนนโอเน็ต และคะแนนจากโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA พบว่า ทักษะการอ่านและการคิดวิเคราะห์ของเด็กไทยต่ำกว่าระดับนานาชาติ แบบที่เรียกว่ารั้งท้ายมาอย่างต่อเนื่อง และยังเห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งด้านโอกาสและคุณภาพผู้เรียน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่งบประมาณที่ไม่เพียงพอ แต่อยู่ที่ไม่สามารถใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ต่อผู้เรียนยังไม่เป็นที่น่าพอใจ และยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทั้งในมิติของโอกาส และคุณภาพอยู่มาก ข้อเสนอที่เป็นไปได้มากที่สุดขณะนี้คือ การปรับสูตรงบประมาณรายหัว ให้เน้นความจำเป็นของนักเรียน และความแตกต่างของพื้นที่ซึ่งมีค่าครองชีพไม่เท่ากัน รวมทั้งต้องสอดคล้องกับขนาดโรงเรียนด้วย

         “สูตรการจัดสรรงบประมาณปัจจุบัน ไม่ได้ทำให้คุณภาพใกล้เคียงกัน แต่กลับถ่างขึ้น  ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กโดยเฉพาะที่ควบรวมไม่ได้เสียเปรียบ ไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งที่โรงเรียนขนาดเล็กต้องดูแลเด็กเปราะบางมากกว่า มีปัญหาในหลายมิติ แต่งบประมาณไม่ได้ปรับตัวตาม คุณภาพการศึกษาแย่ลงเรื่อยๆ” รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าว

            รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวว่า เช่นเดียวกับการจัดสรรทรัพยากรเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ พบว่างบประมาณรายจ่ายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีแนวโน้มลดลง โดยในปีงบประมาณ 2561 มีมูลค่ารวม 18,683 ล้านบาท ลดจากปี 2559 ที่มีจำนวน 28,000 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนงบประมาณในด้านนี้ยังถือว่าไม่มากนัก ดังนั้นจึงควรมีการจัดสรรงบประมาณอย่างทั่วถึงและให้กลุ่มเด็กยากจนด้อยโอกาสได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม

         ดร.ภูมิศรัณย์  ทองเลี่ยมนาค  ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์การศึกษา กสศ. กล่าวว่า จากข้อมูลของ NEA มีประโยชน์มากที่จะช่วยนำไปสู่ข้อเสนอต่างๆ ด้วยข้อมูลที่เป็นรูปธรรม แต่นอกจากงบประมาณแล้วก็ยังมีมิติอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่นการบริหารจัดการ โดยจากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีการกระจายอำนาจในการบริหารงบประมาณของท้องถิ่นกับส่วนกลางแตกต่างกันมาก โดยงบท้องถิ่นมีเพียงแค่ 16%  ขณะที่หลายประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาอย่างฟินแลนด์ อเมริกา มีสูงถึง 40% ซึ่งการกระจายงบไปท้องถิ่นที่ดีจะช่วยให้การบริหารมีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาในท้องถิ่น ของตัวเองได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม นอกจากไทยจะมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแล้ว การกระจายตัวของทรัพยากรน้อยมาก อยู่กลุ่มเดียวกับละตินอเมริกา ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม สิงคโปร์ หรือประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่มีการกระจายตัวของทรัพยากรการศึกษาที่ดี ทำให้ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะประเทศฟินแลนด์โรงเรียนใกล้บ้านก็มีคุณภาพไม่ต่างกันไม่จำเป็นต้องส่งลูกไปเรียนไกล ดังนั้นเราจะต้องทำให้เกิดการกระจายทรัพยากร กระจายอำนาจที่เพิ่มมากขึ้น

          ทางด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีการจัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาอย่างเป็นระบบชัดเจน ทำให้ไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงว่ามีการใช้จ่ายอย่างไรบ้าง ดังนั้น กสศ. จึงจัดทำระบบบัญชีรายจ่ายการศึกษาที่มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

         “คำถามแรกที่คนทั่วไปมักถามก็คือ ทำไมการศึกษาไทยลงทุนมาก แต่ได้ผลไม่มาก ทั้งที่การจัดทำงบประมาณแผ่นดิน จะเห็นได้ว่างบประมาณด้านการศึกษามาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ ปีละ 5-6 แสนล้านบาท แต่กลับไม่สะท้อนไปถึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ด้วยเหตุนี้การจัดทำบัญชีรายจ่ายการศึกษาจะช่วยให้ทราบว่ามีการจัดสรรงบประมาณไปในกิจกรรมใดบ้าง จังหวัดใดได้มากหรือได้น้อย และเข้าถึงกลุ่มประชากรใดบ้าง เพื่อให้เกิดการทบทวนการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างเสมอภาคมากขึ้น” ดร.ไกรยส กล่าว

           รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวอีกว่า การพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาจะช่วยให้หน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนทิศทางการลงทุนด้านการศึกษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีความเสมอภาคมากขึ้น โดยล่าสุดได้มีการจัดทำในระบบออนไลน์และลงลึกในรายละเอียดถึงระดับจังหวัด

          “การจัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาก็เปรียบเหมือนการทำบัญชีรายจ่ายครัวเรือน เพื่อการศึกษาของลูกหลานเรา ฉะนั้นทุกภาคส่วนสามารถเข้ามานำข้อมูลนี้ไปปรับใช้ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาบนฐานของข้อมูลที่แท้จริง” ดร.ไกรยส กล่าว

          ดร.ไกรยส กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 การจัดเก็บงบประมาณทำได้น้อยลง เราจำเป็นต้องมีระบบสมาร์ทอินเวสต์เมนต์ โดยจะต้องมีการจัดเก็บข้อมูลที่ดี และต้องดูว่าเรื่องไหนจำเป็นต้องลงทุนทันที เรื่องไหนรอได้ ดังนั้นหวังว่าการจัดทำงบประมาณปี 2565  NEA จะเป็นเครื่องมือทางนโยบายที่เป็นประโยชน์ รู้ว่าจะต้องลงทุนตรงไหน โดยการลงทุนในมนุษย์ที่คุ้มค่าที่สุดคือการลงทุนในระบบการศึกษา ซึ่ง NEA คือพิมพ์เขียวในการลงทุนโดยมีข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนในอีก 10 ปีข้างหน้าโดยผู้สนใจสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://research.eef.or.th/nea/ เพื่อดูข้อมูลรายจ่ายด้านการศึกษาย้อนหลังได้

          นอกจากนี้  ก่อนที่จะมี กสศ. ประเทศไทยจัดงบแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำการศึกษาเพียง 0.5 % ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเคยประเมินว่า จะต้องใช้งบประมาณ 5 %  เพื่อดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ปัจจุบันได้รับการจัดสรรเพียง 5,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ถึง 1% ด้วยเหตุนี้ กสศ. จำเป็นต้องลงทุนอย่างแม่นยำ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดด้วยเครื่องมืออย่าง NEA รวมทั้งวางยุทธศาสตร์ที่ร่วมลงทุนกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยไม่อาจทำงานเพียงลำพังได้ การที่มี NEA จะทำให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตรงจุดแม่นยำมากขึ้น

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.