การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถือเป็นการลงทุนที่ดีและคุ้มค่ามากที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะนอกจากจะเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพของเด็กให้เจริญเติบโตแข็งแรง มีพัฒนาการสมวัยตั้งแต่แรกเกิดอย่างดีที่สุด และช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตของแม่หลังคลอดแล้ว ยังส่งผลดีต่อประเทศในด้านเศรษฐกิจจากการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ และด้านสังคมจากคุณภาพของเด็กที่เติบโตอย่าง เต็มศักยภาพ
พ่อแม่จำเป็นต้องได้รับการสร้างเสริมพลังให้สามารถฝ่าฟันทุกข้อจำกัดในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ เริ่มต้นจากการเข้าใจความต้องการของแม่ตามบริบทที่แตกต่างกันไป การให้เกียรติและให้คุณค่าแก่สตรีในฐานะผู้ทำหน้าที่แม่ จะช่วยให้สังคมออกแบบวิธีการ มาตรการและกฎระเบียบต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น การออกกฎหมายเพื่อให้สิทธิลาคลอดเพื่อให้แม่มีเวลาพักฟื้นร่างกายและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเพียงพอ การกำหนดมาตรการมุมนมแม่เพื่อให้พนักงานหญิงมีที่สำหรับบีบเก็บน้ำนมเมื่อกลับมาทำงาน หรือแม้แต่การสร้างกลุ่มแม่ช่วยแม่ในชุมชน เป็นต้น
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ในวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันที่มีความสำคัญต่อลูกทุกคน คือ “วันแม่แห่งชาติ” และนานาประเทศได้ร่วมกันกำหนดให้ทุกวันที่ 1-7 สิงหาคมของทุกปีเป็นสัปดาห์นมแม่โลก หรือ World Breastfeeding Week โดยในปีนี้ ร่วมรณรงค์ภายใต้แนวคิด “Empower Parents Enable breastfeeding เสริมพลังพ่อแม่ เพื่อนมแม่ยั่งยืน”
“นมแม่” ถือเป็นจุดเริ่มต้นของทุกชีวิต เพราะเป็นการวางรากฐานพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนตั้งแต่วัยทารก ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการทั้งกายและใจของเด็ก อีกทั้ง ลดการเสียชีวิตของมารดาและทารกหลังคลอด ประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเด็กที่ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงและปอดบวมถึง 230 ล้านบาทต่อปีด้วย ดังนั้น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถือเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด เพราะลงทุนน้อยแต่ได้ผลตอบแทนมหาศาล จากการสำรวจของ MICs ล่าสุด พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนเพียงร้อยละ 23.1 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในอาเซียน และยิ่งไปกว่านั้น มีเด็กเพียงร้อยละ 13 ที่ได้กินนมแม่ต่อเนื่องจนถึง 2 ปี
ในความเป็นจริง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะสำเร็จหรือไม่ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความตั้งใจของแม่เป็นหลัก แต่ความตั้งใจของแม่มักได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยแวดล้อมจำนวนมาก ตั้งแต่การสนับสนุนของคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน คนในชุมชน บริบททางสังคม ดาราและผู้มีชื่อเสียง รวมถึง การได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือจากบุคลากรด้านสาธารณสุข แนวคิดสัปดาห์นมแม่โลกในปีนี้ จึงต้องการสื่อสารและเน้นย้ำไปถึงทุกคนในสังคมว่า เราสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้เด็กทุกคนกินนมแม่ได้สำเร็จ
กรมอนามัยในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพของประชาชน เราเล็งเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงมีการกำหนดมาตรการและดำเนินงานเพื่อปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคีเครือข่าย ดังนี้
ด้านแรก การปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยมีการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ๒๕๖๐ หรือ พ.ร.บ.นมผง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิและสุขภาพของเด็กทุกคนไม่ให้เสียโอกาสในการกินนมแม่ ผ่านการควบคุมวิธีการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กให้เหมาะสม กรมอนามัยร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผลเป็นรูปธรรม แนวทางที่สำคัญ คือ การวางระบบเฝ้าระวังทั้งเชิงรุกและเชิงรับ การพิจารณาการกระทำผิด และการจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบและเกิดประโยชน์สูงสุด
ด้านที่สอง การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้แม่มีความรู้ ทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สิ่งที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ให้จัดบริการตามมาตรฐานโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก ซึ่งเป็นแนวทางที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า แม่จะได้รับการดูแลและเตรียมพร้อมสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนกระทั่งคลอด และกลับไปสู่ในชุมชน ในปีที่ผ่านมากรมอนามัยร่วมมือกับคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดอบรมหลักสูตรพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยการสนับสนุนทุนจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ในการอบรมพยาบาลวิชาชีพกว่า 50 คน ทั่วประเทศ เพื่อให้มีทักษะ ความรู้ในการให้ความช่วยเหลือ ดูแลและแก้ไขปัญหาให้กับหญิงตั้งครรภ์ แม่และครอบครัวเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า แม่และครอบครัวจะได้รับการบริการจากบุคลากรที่มีคุณภาพ ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ประสบความสำเร็จได้
ด้านที่สาม การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถือเป็นมาตรการที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง แม้ว่าแม่จะมีทัศนคติและการเตรียมพร้อมที่ดีแล้ว อีกปัจจัยที่สำคัญคือ การสนับสนุนจากครอบครัว คนรอบข้างและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ปัจจุบันนี้ เหตุผลหลักข้อหนึ่งที่ทำให้แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ คือ แม่ต้องกลับไปทำงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงมีนโยบายการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบการขึ้น เพื่อให้แม่สามารถบีบเก็บน้ำนมได้ และกรมอนามัยได้ร่วมสนับสนุนด้านวิชาการเกี่ยวกับแนวทางการจัดตั้งมุมนมแม่ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ในกรณีแม่ต้องกลับไปทำงานและอยู่ห่างไกลลูก ศูนย์อนามัยที่ 7 มีการขับเคลื่อนโครงการภาคีร่วมใจส่งรักส่งนมจากอกแม่สู่ลูกในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ เป็นการเปิดรับนมแม่แช่แข็งจากทั่วประเทศและจัดส่งให้กับลูกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบธุรกิจขนส่งในพื้นที่ ได้แก่ บริษัท ก.เกียรติชัยพัฒนาขนส่งจำกัด บริษัทภูเขียวขนส่งจำกัด บริษัทชาญทัวร์จำกัด และสายการบินไทยแอร์เอเชีย ซึ่งผู้แทนของทุกหน่วยงานที่สนับสนุนได้มาร่วมในงานแถลงข่าววันนี้ด้วย
คนไทยควรจะได้รับรู้ว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีความสำคัญอย่างไร และเราจะช่วยให้แม่มีพลังกายพลังใจ ฝ่าฟันข้อจำกัดและอุปสรรคอย่างไร เพื่อให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ “นมแม่” เป็นเรื่องธรรมชาติที่แม่และเด็กทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน นอกเหนือจากการดำเนินการตามมาตรฐานโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก การพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุขในการทำหน้าที่พยาบาลนมแม่ มาตรการทางกฎหมาย และมาตรการทางสังคมด้านอื่นๆ
ที่ขณะนี้กำลังดำเนินการอย่างเต็มที่ทุกคนและทุกองค์กรในสังคมจะร่วมมือกันสนับสนุนแม่และครอบครัว ให้ได้รับการปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ผลักดันให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสังคมไทยประสบความสำเร็จ เพื่อวางรากฐานให้แก่ทุกชีวิตที่เกิดมาได้มีโอกาสเติบโตอย่างมีคุณภาพ
Dr. Renu Garg :Medical Officer-NCD ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย (WHO)
ในปีนี้ องค์การอนามัยโลก และยูนิเซฟ ร่วมกันรณรงค์เรื่องความสำคัญของนโยบายที่ช่วยสนับสนุนครอบครัวในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และช่วยพ่อแม่ในการเลี้ยงดูและผูกพันกับเด็กในช่วงแรกของชีวิต ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สุดสำหรับทารก
- องค์การอนามัยโลก และยูนิเซฟ แนะนำให้เริ่มการให้นมแม่ในชั่วโมงแรกหลังคลอด
- ให้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน
- ให้กินนมแม่ต่อเนื่องจนถึงอายุ 2 ปีหรือมากกว่านั้น ควบคู่กับอาหารเสริมตามวัยเมื่ออายุได้ 6 เดือน
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดถึงประโยชน์ของนมแม่
- นมแม่นั้นเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของทารก โดยป้องกันการติดเชื้อรุนแรงในช่วงวัยเด็ก และป้องกันภาวะต่างๆ เช่น เบาหวาน และอ้วนในช่วงวัยต่อไปของชีวิต
- นมแม่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการของสมอง และการเรียนรู้ของเด็ก
- นมแม่ยังมีประโยชน์ต่อแม่ที่ให้นมบุตร โดยช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ โรคเบาหวาน และโรคหัวใจอีกด้วย
ประโยชน์ของนมแม่ในเชิงเศรษฐกิจ
- ค่าประมาณความสูญเสียทางเศรษฐกิจของการที่เด็กไม่ได้รับนมแม่ทั่วโลก อยู่ที่ประมาณสามแสนล้านเหรียญสหรัฐ
- สำหรับประเทศไทย มีการประมาณว่า หากเด็กไทยทุกคนได้รับนมแม่อย่างเต็มที่ จะสามารถรักษาชีวิตเด็ก และประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเด็กที่ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง และปอดบวมไปได้ถึง 7.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (228 ล้านบาท) ต่อปี
- ความท้าทายของอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทย
- อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวของประเทศไทยนั้นต่ำมาก
- เด็กทารกในช่วง 6 เดือนแรกได้รับนมแม่อย่างเดียวไม่ถึง ร้อยละ 25
- เป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเซียใต้และตะวันออก
- ความท้าทายของประเทศไทยที่จะบรรลุเป้าหมายระดับโลก ในการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว6เดือน ให้ถึงร้อยละ 50 ในปี 2568
รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
- การออกพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 นั้นถือเป็นก้าวที่สำคัญในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในประเทศไทย
- ทั้งนี้ การจัดทำยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนพรบ. และการวางกลไกในการดำเนินงานก็เป็นสิ่งสำคัญจะช่วยให้เกิดการปฏิบัติตาม และบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
เสริมพลังพ่อแม่ เพื่อนมแม่ยั่งยืน
- นโยบายที่ช่วยสนับสนุนครอบครัวในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถือเป็นการลงทุนด้านสุขภาพ พัฒนาการ และอนาคตของเด็ก แม่ และประเทศชาติ
- ขอให้รัฐบาล และนายจ้างทุกท่านพิจารณาดำเนินนโยบายนี้ ซึ่งรวมถึง การให้สิทธิลาคลอดบุตร และเลี้ยงดูบุตรแบบจ่ายเงินเดือน อย่างต่ำ 18 สัปดาห์ หรือ ถึง 6 เดือนถ้าเป็นไปได้
องค์การอนามัยโลกขอร่วมสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสนับสนุนให้มีนโยบายและกลไกเพื่อเสริมพลังพ่อแม่ ให้สามารถให้นมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และให้นมแม่ต่อเนื่องพร้อมอาหารเสริมตามวัยจนถึง 2 ขวบ
Mr. Hugh Delaney Chief of Education (หัวหน้าฝ่ายการศึกษา) ผู้แทนจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่ง สหประชาชาติประจำประเทศไทย (Unicef) “องค์การยูนิเซฟแนะนำให้เด็กทุกคนกินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารที่ดีที่สุดและมีภูมิคุ้มกัน แต่ปัจจุบัน มีเด็กในประเทศไทยเพียง 1 ใน 5 คนเท่านั้นที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวจนครบ 6 เดือน ซึ่งอาจมีผลมาจากหลากหลายสาเหตุ เช่น ค่านิยมที่มักให้อาหารกึ่งเหลวกับเด็กทารกก่อน 6 เดือน หรือพ่อแม่บางคนยังมีความเข้าใจผิดว่าลูกหิวน้ำ หรือต้องการล้างปากเด็ก คุณแม่บางท่านอาจกังวลเรื่องคุณภาพนมของตนหรือคิดว่านมไม่พอ นอกจากนั้น คุณแม่จำนวนมากยังขาดแรงสนับสนุนจากที่ทำงานเรื่องการให้สิทธิการลา หรือเมื่อกลับไปทำงานแล้ว ที่ทำงานก็ไม่มีพื้นที่เหมาะสมให้แม่บีบเก็บน้ำนมได้”
นายเดลานีกล่าวเสริมว่า เนื่องในสัปดาห์นมแม่โลกปีนี้ ยูนิเซฟขอเรียกร้องให้สถานประกอบการช่วยกันสนับสนุน “นมแม่” โดยจัดให้มีนโยบายที่เป็นมิตรกับครอบครัว (Family Friendly policies) เช่น การส่งเสริมนโยบายการลาคลอดของพ่อและแม่ การสนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อช่วยลดภาระครอบครัวที่มีลูกเล็ก การสร้างมุมหรือห้องนมแม่ ตลอดจนนโยบายที่ให้แม่สามารถบีบเก็บน้ำนมได้ระหว่างเวลาทำงาน ทั้งหมดนี้จะช่วยให้พนักงานที่มีลูกสามารถดูแลครอบครัวได้ดีขึ้นและสร้างสมดุลในชีวิตในช่วงที่ลูกยังเล็ก เพราะหากแม่ขาดแรงสนับสนุนจากครอบครัวและที่ทำงานแล้ว แม่ก็จะขาดพลังและกำลังใจและหยุดให้นมลูกในที่สุด
แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
การที่ทำให้คุณพ่อ คุณแม่เข้าใจว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พร้อมอาหารตามวัยจนถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้น สิ่งที่ดีที่สุดที่ คุณพ่อ คุณแม่และครอบครัว ตลอดจนชุมชน สามารถช่วยกันดูแลให้เกิดขึ้น เด็กที่กินนมแม่มีภาวะโภชนาการที่ดี มีภูมิต้านทานช่วยในการป้องกันโรค ลดภูมิแพ้โปรตีนจากนมวัว และการกินนมแม่ยังช่วยสร้างความผูกพัน เกิดการเรียนรู้ระหว่างแม่กับลูกผ่านการโอบกอด สัมผัส ในช่วงระยะเวลาที่ลูกได้กินนมแม่
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่แม่จะให้ลูกได้และถือเป็นของขวัญชิ้นแรก เป็นเรื่องไม่ยากที่จะทำได้สำเร็จ ช่วงที่ลูกได้กินนมแม่ เป็นช่วงที่แม่ลูกได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีความสุขไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เมื่อคลอด การที่ลูกได้นอนบนอกแม่ และดูดนมทันทีหลังคลอด หรือภายใน 2 ชั่วโมงหลังคลอด ซึ่งจะช่วยทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนสำเร็จ
การดำเนินงานของศูนย์นมแม่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการเสริมพลังให้กับแม่ ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้การช่วยเหลือดูแล ในกรณีที่แม่มีปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จวบจนแม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ทางมูลนิธิฯ มีการจัดตั้งกลุ่มอาสา โดยการนำคุณแม่ที่ประสบความสำเร็จที่มีจิตอาสา มาเป็นที่ปรึกษา ช่วยเหลือคุณแม่ที่ประสบปัญหา ให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ โดย “แม่ช่วยแม่” และอีกช่องทางหนึ่ง คือ ทางมูลนิธิฯ มีเว็ปไซต์เพื่อการสื่อสารข้อมูลวิชาการต่างๆให้สำหรับคุณแม่ที่สนใจหรือมีปัญหา ข้อสงสัย สามารถเข้ามาเยี่ยมชม หาความรู้ได้ หรือตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
อีกหนึ่งกิจกรรมที่มูลนิธิฯ ดำเนินการคือ การประสานงานระหว่างหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน องค์กรอิสระ เพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเฉพาะการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบการ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้แม่ทำงาน ที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนประสบความสำเร็จ โดยมีสถานที่ บีบเก็บน้ำนมเพื่อความสะดวกและเป็นสัดเป็นส่วน และกิจกรรมที่สำคัญ คือ การสร้างความรู้ ทักษะ ให้บุคลากรทางการสาธารณสุข โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาล ให้มีความรู้ ทักษะ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่อยู่ในสถาบันการศึกษา เมื่อจบออกมา มีความพร้อมที่สามารถช่วยเหลือแม่ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ สิ่งที่สำคัญที่อยากจะสื่อสาร คือ 1-6-2 1= การให้ลูกได้กินนมแม่ในชั่วโมงแรกหลังคลอด 6= กินนมแม่นนานอย่างเดียว 6 เดือน และ2= กินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยจนถึง 2ปี หรือนานกว่านั้น โดยการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจตั้งแต่ในระดับชุมชนเพื่อให้เกิดความตะหนัก เพราะการที่แม่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นั้นชุมชนมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือแม่อย่างยิ่ง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สื่อสารสาธารณะ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
โทรศัพท์ 0-2590-4053 Email : doh.anamai@gmail.com
ประสานงานประชาสัมพันธ์ คุณผกากานท์ ภู่ระโหง 062 928 9923