องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ในฐานะองค์กรหลักที่มีบทบาทด้านการส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงโคนมไทยมายาวนานกว่า 57 ปี โดย “อาชีพการเลี้ยงโคนม” เกิดจากพระราชวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”(รัชกาลที่ 9) ที่ทรงเล็งเห็นว่าอาชีพการเลี้ยงโคนมจะช่วยให้ชาวไทยได้บริโภคนมที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรไทยได้มีอาชีพที่มั่นคง ดังพระราชดำรัสในตอนหนึ่งว่า “การเลี้ยงโคนมก็เป็นอาชีพที่ดีสำหรับคนไทย เหมาะกับประเทศ และถ้าใช้หลักวิชาที่เหมาะสม ก็จะทำให้มีความเจริญและมีรายได้ดี” จึงก่อเกิด “อาชีพการเลี้ยงโคนม”ซึ่งอาชีพนี้ก่อกำเนิดขึ้น เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2503 ครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” เสด็จประพาสทวีปยุโรปประทับแรมอยู่ ณ ประเทศเดนมาร์ก ทรงให้ความสนพระทัยในกิจการการเลี้ยงโคนมของชาวเดนมาร์กเป็นอย่างมาก จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ว่าด้วยการร่วมมือด้านวิชาการการเลี้ยงโคนมระหว่างประเทศไทยและประเทศเดนมาร์กขึ้น และลงนามสัญญาการให้ความร่วมมือช่วยเหลือทางวิชาการการเลี้ยงโคนม ระหว่างรัฐบาลเดนมาร์กกับรัฐบาลไทย ในเดือนตุลาคม 2504 โดยรัฐบาลเดนมาร์กได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาทำการศึกษาความเป็นไปได้ของการเลี้ยงโคนมของประเทศไทย และสำรวจพื้นที่ร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย พบว่าอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี มีความเหมาะสมที่สุด เพราะเป็นสถานที่เป็นหุบเขาสวยงาม มีแหล่งน้ำสะอาด และไม่ไกลจากตลาดกรุงเทพฯ จึงจัดตั้งโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยขึ้น จนกระทั่งเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2505 นับได้ว่าเป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ของการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร(รัชกาลที่ 9) และ สมเด็จพระราชาธิบดีเฟรดเดอริคที่ 9 แห่งเดนมาร์ก ทรงประกอบพิธีเปิดฟาร์มโคนม และศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์ค อย่างเป็นทางการ เป็นศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมแห่งแรกของประเทศไทย
จากนั้นในปี พ.ศ. 2514 รัฐบาลไทยได้รับโอนกิจการฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์ค จัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยใช้ชื่อว่า “องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)” จนถึงปัจจุบันซึ่งจากปี 2505 จวบจนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2562 อาชีพการเลี้ยงโคนม อาชีพพระราชทานที่เกษตรกรไทยได้สืบสาน รักษา ต่อยอด ให้คงอยู่จากรุ่นสู่รุ่นอย่างมั่นคงและยั่งยืน จากพระราชปณิธานของ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ” (รัชกาลที่ 9) เข้าสู่รัชสมัยปัจจุบัน ใน “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” (รัชกาลที่ 10) ทรงสานต่อพระราชปณิธานให้ “อาชีพการเลี้ยงโคนม” ของเกษตรกรไทยยังสืบสาน ต่อยอดกิจการโคนมโดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นหน่วยงานที่สานต่อภารกิจ ให้การสนับสนุนพัฒนาองค์ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อให้ “การเลี้ยงโคนม” เป็นอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรโคนมไทยมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน
ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนม (อ.ส.ค.) กล่าวเพิ่มเติมว่า อ.ส.ค. มุ่งมั่นเดินหน้าพันธกิจขององค์กรสืบสานพระราชปณิธาน “โคนมอาชีพพระราชทาน” ส่งเสริมสหกรณ์และเกษตรกรโคนมให้ดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนเกษตรกรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ให้องค์ความรู้ด้านการประกอบกิจการโคนม การบริหารจัดการฟาร์มโคนม การบริหารจัดการด้านอาหารในฟาร์มโคนม ตลอดจนการดูแลสุขภาพโคนม การพัฒนาและปรับปรุงพันธ์โคนมเพื่อยกระดับเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer เสริมศักยภาพด้านผลผลิตให้แก่เกษตรกรโคนม รวมถึงการพัฒนาฟาร์มโคนมด้านต่างๆ เพื่อผลักดันให้เกษตรกรมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมนมที่มีอัตราการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น ด้วยผลผลิตที่มีคุณภาพ ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นในทุกปี พร้อมผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางข้อมูลและอุตสาหกรรมนมแบบครบวงจรในระดับสากล
ปัจจุบันองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ได้ดำเนินการและขับเคลื่อนพันธกิจขององค์กร ที่ยังคงสืบสาน รักษา ต่อยอด “อาชีพการเลี้ยงโคนม” ส่งเสริมและพัฒนาให้กิจการโคนมของเกษตรกรไทยมีความเจริญเติบโตและก้าวหน้าในอุตสาหกรรมน้ำนมดิบให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล อ.ส.ค.ให้การสนับสนุนแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมครอบคลุมอย่างครบวงจรด้านกิจการโคนม ตลอดจนให้การสนับสนุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์นมแปรรูปจากน้ำนมดิบของเกษตรกรไทย มาเป็นผลิตภัณฑ์นมภายใต้แบรนด์ไทย-เดนมาร์ค ให้ประชาชนคนไทยได้บริโภคผลิตภัณฑ์นมที่ดี มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อร่างกาย ที่สำคัญเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเกษตรกรไทย ซึ่งผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ได้พัฒนาและแปรรูปน้ำนมให้มีความหลากหลาย เพื่อสร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคและต้องการให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคทุกกลุ่ม อาทิ ผลิตภัณฑ์นม ยู.เอช.ที. ผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์ ผลิตภัณฑ์นมปราศจากน้ำตาล (Lactose Free) ผลิตภัณฑ์นมออร์แกนิค ภายใต้แบรนด์มอร์แกนิค ผลิตภัณฑ์โยเกิร์ต ผลิตภัณฑ์นมเย็น ที่จำหน่ายที่ร้าน Thai-Denmark Milk Land และ Thai-Denmark Milk Shop ผลิตภัณฑ์นมโรงเรียน เป็นต้น นอกจากการจัดจำหน่ายภายในประเทศแล้ว อ.ส.ค. ยังขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม อีกด้วย ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติม