
พพ. ลงนามร่วมกับการเคหะแห่งชาติ บูรณาการเชื่อมโยงเครือข่ายอนุรักษ์พลังงานในอาคารที่อยู่อาศัย ออกแบบอาคาร สอดรับมาตรฐาน BEC นำร่อง 9 ประเภทอาคารที่มีขนาดตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป เพื่อบรรลุเป้าหมายของแผน EEP 2015 ในการลดใช้พลังงานลงร้อยละ 30 ภายในปี 2579

นายยงยุทธ์ สวัสดิสวนีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยวันนี้ (10 ก.ย.2562) ว่า พพ. และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการบูรณาเครือข่ายความร่วมมือการอนุรักษ์พลังงาน ในการสนับสนุนการออกแบบอาคารที่อยู่อาศัยให้สอดรับกับกฎกระทรวงกำหนดประเภทหรือขนาดอาคารและมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ Building Energy Code (BEC) ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2562 กับอาคารก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง 9 ประเภท ได้แก่ 1) สำนักงาน 2) โรงแรม 3) โรงพยาบาล 4) ศูนย์การค้า 5) โรงมหรสพ 6) สถานบริการ 7) อาคารชุมนุมคน 8) อาคารชุด และ 9) สถานศึกษา ซึ่งนำร่องอาคารที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป

การลงนามครั้งนี้ เป็นการเริ่มต้นที่จะแสดงเจตจำนงที่หน่วยงานรัฐจะร่วมกันส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เป็นการร่วมมือกันสร้างเครือข่ายด้านการอนุรักษ์พลังงาน และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ได้ดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม พพ. ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการบังคับใช้ดังกล่าว ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมในเรื่องการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 เตรียมความพร้อมบุคลากรผู้ออกแบบอาคาร สถาปนิก วิศวกร เจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่อนุญาตการก่อสร้าง รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ให้มีความรู้ความเข้าใจในนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของภาครัฐ

สำหรับมาตรฐาน BEC นั้น ได้กำหนดเป้าหมายในปี 2563 บังคับใช้กับอาคารที่มีขนาดตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป และในปี 2564 บังคับใช้ กับอาคารที่มีขนาดตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งมาตรการบังคับใช้นี้ถือเป็นหนึ่งในมาตรการดำเนินงานของ พพ. ที่จะดำเนินการควบคู่กับมาตรการจูงใจสนับสนุนทางการเงิน สำหรับการอนุรักษ์พลังงานในภาคอาคารให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน และมีประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการพลังงานภายในอาคาร ตามแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศพ.ศ. 2558-2579 หรือ EEP 2015 ที่กำหนดเป้าหมายสำคัญในการลดการใช้พลังงานร้อยละ 30 ในปี 2579

“ตามแผน EEP 2015 นั้น ได้วางมาตรการในการลดใช้พลังงานในทุกภาคส่วนที่สำคัญ ซึ่งมีการใช้พลังงาน สูงได้แก่ ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคอาคารธุรกิจ และภาคบ้านอยู่อาศัย โดยใช้กลยุทธ์และมาตรการดำเนินงานแบบผสมผสานทั้งมาตรการบังคับใช้ด้วยกฎหมาย และมาตรการจูงใจสนับสนุน เช่น กองทุนเพื่อการส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น โดย BEC จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะมีส่วนทำให้เกิดการประหยัดพลังงานในอาคารได้เป็นอย่างดี” นายยงยุทธ์ กล่าว.
