ACCESSTRADE จับมือ จุฬาฯ โชว์ผลสำเร็จ โครงการ CU SMART ENTREPRENEUR ปั้นนิสิตสู่ผู้ประกอบการหน้าใหม่

ACCESSTRADE โดย บริษัท อินเตอร์สเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมนิสิตเก่าหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โชว์ผลสำเร็จโครงการพัฒนาธุรกิจต้นแบบสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสังคมไทย CU SMART ENTREPRENEUR เน้นหลักสูตรด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ต่อยอดสร้างรายได้ผ่านสื่อออนไลน์ เกิดเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ในอนาคต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สรายุทธ ทรัพย์สุข ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านการพัฒนานิสิต และนิสิตเก่าสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมโลกกำลังเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัล เทคโนโลยีออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งในแง่ของผู้ประกอบการธุรกิจ และผู้บริโภค สถาบันการศึกษาเอง ก็ย่อมต้องมีการปรับตัวเช่นกัน เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับ สมาคมนิสิตเก่าหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ACCESSTRADE (แอ็กเซสเทรด) โดย บริษัท อินเตอร์สเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการระบบการตลาดออนไลน์ หรือระบบแอฟฟิลิเอตที่ใหญ่ที่สุดและเป็นที่แรกในประเทศไทย จัดทำโครงการพัฒนาธุรกิจต้นแบบสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสังคมไทย CU SMART ENTREPRENEUR เพื่อให้นิสิตที่มีความฝันอยากเป็นผู้ประกอบการ ได้ตามล่าความฝันของตัวเอง โดยมีหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง เพื่อให้นิสิตมีความรู้ความเข้าใจในการทำตลาดออนไลน์ อีกทั้งยังมีรุ่นพี่ศิษย์เก่าที่มีประสบการณ์ในทางธุรกิจมาให้คำแนะนำและให้คำปรึกษา โดยหวังว่าโครงการนี้

“นิสิตที่เข้ารับการอบรม สามารถลองผิดลองถูกด้วยตนเอง หรือหากล้มลงก็ล้มเสียตั้งแต่ยังเป็นนิสิต ซึ่งคงไม่บาดเจ็บมากนัก หากเปรียบเทียบกับการออกไปล้มลุกคลุกคลานด้วยตนเองหลังจบการศึกษาไปแล้ว และสำหรับโครงการนี้เราอาศัยศักยภาพของรุ่นพี่ศิษย์เก่า ที่มีประสบการณ์ในทางธุรกิจมาประกบเพื่อให้คำปรึกษากับน้องนิสิต ซึ่งมีนิสิตให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 100 คน และสร้างผลงานที่สามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต ทั้งนี้หลังจากเสร็จสิ้นโครงการในเฟสแรก อาจมีการหารือกับผู้บริหารเพื่อดำเนินโครงการเฟสสองต่อ โดยเปิดโอกาสให้นิสิตในสาขาอื่นที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้ จะช่วยพัฒนาศักยภาพของนิสิตให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy) รวมถึงการสร้างบัณฑิตไปรับใช้สังคมทางด้านความคิดหรือวางแผนธุรกิจให้กับสังคมไทย (Social Enterprise)” ผู้ช่วยศาสตราจารย์สรายุทธ กล่าว

ด้านนายภัทรวุฒิ กุลจันทร์ ผู้บริหารระดับสูงสุด บริษัท อินเตอร์สเปซ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากข้อมูลของสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ระบุว่า ภายในปี 2562 นี้ คาดว่าจะมีการใช้ เม็ดเงินสำหรับโฆษณาสินค้าและบริการรวมจำนวนกว่า 20,163 ล้านบาท โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังคงเป็น Facebook และ YouTube ที่ครองสัดส่วนเม็ดเงิน 49% โดย Facebook มาเป็น อันดับ 1 มีสัดส่วน 29% คิดเป็นเงิน 5,762 ล้านบาท เติบโตจากปี 2561 ราว 17% ส่วน YouTube มาเป็นอันดับ 2 มีสัดส่วน 20% คิดเป็นเงิน 4,120 ล้านบาท เติบโตก้าวกระโดดถึง 41% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูง และแซงหน้าทีวีดิจิทัลแล้ว ทั้งนี้ ในจำนวนเม็ดเงินโฆษณา ส่วนหนึ่ง มีการนำระบบแอฟฟิลิเอต (Affiliate Marketing) หรือ ระบบการตลาดออนไลน์ โดยการเป็นตัวแทน นำสินค้าของร้านค้าต่างๆ ในระบบมาขาย บนเว็บไซต์หรือบล็อก เมื่อมีลูกค้าซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์นั้น ตัวแทนก็จะได้ค่า Commission (คอมมิสชั่น) จากการขายสินค้านั้นๆ ข้อดีของการทำ Affiliate คือ ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องสต๊อกสินค้า ไม่ต้องยุ่งยากเรื่องการจัดส่งสินค้า เพียงแค่ให้ลูกค้าซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ ก็จะได้ค่าคอมมิสชั่นจากการขายสินค้านั้นแล้ว ซึ่งในมุมของร้านค้าหรือเจ้าของสินค้าเอง ที่ผ่านมามีการสร้าง Branding เพื่อให้ยอดขายกลับมา แต่ Affiliate Marketing คือ Return on Investment (ROI) ที่ช่วยให้ร้านค้าต่าง ๆ ในระบบของ ACCESSTRADE (แอ็กเซสเทรด) เกิดยอดขายจริง ทาง ACCESSTRADE (แอ็กเซสเทรด) เล็งเห็นความสำคัญตรงจุดนี้ จึงได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สมาคมนิสิตเก่าหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการพัฒนาธุรกิจต้นแบบสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสังคมไทย (CU SMART ENTREPRENEUR) ขึ้น โดยมีนิสิตและศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมกว่า 100 คน และได้นำเอาหลักสูตรด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง เข้าไปในเนื้อหาการเรียน เช่น การเขียนคอนเทนต์, การสร้าง blog, website รวมถึงเทคนิคต่างๆ ตั้งแต่พื้นฐานจนสามารถสร้างรายได้ได้จริงจากการเรียน ควบคู่กับการทำ Affiliate Marketing โดยมีนิสิตที่สามารถนำความรู้จากการเข้าร่วมโครงการมาพัฒนา ต่อยอด จนสามารถสร้างเพจที่มีความน่าสนใจ สามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียน และสามารถต่อยอดในอนาคตได้ อาทิ เพจ อ่านเถอะมันดี, babebiE_gallary, เชมมี่รีวิว, พาไปเที่ยว และ Unicorn บอกโปร เป็นต้น ซึ่งหลังจากจบการเรียนในโครงการฯ ทาง ACCESSTRADE (แอ็กเซสเทรด) ได้มีการติดตามผล พบว่านิสิตสามารถสร้างรายได้ได้จริง เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท ต่อเดือน

“จากเพจทั้ง 5 เพจนี้ จะเป็น Role Model หรือบุคคลต้นแบบที่จะทำให้เกิดการสร้างรายได้ และ ต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ในอนาคต ซึ่งจะเห็นว่า Digital Marketing ได้เข้ามาสร้างโอกาสให้กับทุกคน อีกทั้งยังสอดคล้องกับพันธกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องการทำให้สังคมไทย ก้าวไปได้ในยุคดิจิทัล” นายภัทรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *