สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) นำคณะนักประดิษฐ์/นักวิจัยไทยจาก 9 หน่วยงานคว้ารางวัลระดับนานาชาติจากงาน “The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New Products” (iENA 2019) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2562 ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี รางวัลที่ได้รับประกอบด้วย
1. Gold Medal 4 ผลงาน
2. Silver Medal 13 ผลงาน
3. Bronze Medal 6 ผลงาน
รางวัลเหรียญทองได้แก่
-ผลงานเรื่อง”อุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนจากวัสดุฉลาดสำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว” โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
-ผลงานเรื่อง”การประเมินอายุใช้งานที่เหลือของหม้อแปลงสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า” โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
-ผลงานเรื่อง”ตู้ควบคุมโหลดเบรกสวิตช์ ชนิด FS6 แบบเอนกประสงค์” โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)
-ผลงานเรื่อง”เครื่องหมุนรีลสายไฟ(แบบเคลื่อนย้ายอิสระ)พร้อมขาตั้งรีลสายไฟ(แบบไม่ต้องใช้คนควบคุม)”โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)
พร้อมนี้ เป็นที่น่ายินดีที่นักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัลพิเศษของงานคือ รางวัล The Thinker จากผลงานเรื่อง “อุปกรณ์ชดเชยค่ากำลังไฟฟ้ารีแอกทีฟขณะสตาร์ทมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดใหญ่” โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นอกจากนี้ ผลงานจากประเทศไทยยังได้รับรางวัลพิเศษ (Special Prizes) จากองค์กร/หน่วยงานต่างประเทศอีกหลายผลงาน
ในปีนี้ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นำคณะนักประดิษฐ์/นักวิจัย นำผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้รับการคัดเลือกจากหน่วยงานเครือข่ายวิจัย ร่วมประกวดเพื่อสร้างการยอมรับในมาตรฐานของผลงานไทยและสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพนักประดิษฐ์/นักวิจัยไทย ในเวทีนานาชาติที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับระดับโลก
“The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New Products” จัดขึ้นเป็นปีที่ 71 เป็นเวทีการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติที่สำคัญในสหภาพยุโรป โดยมีนักประดิษฐ์/นักวิจัยจากทั่วโลกนำผลงานเข้าประกวดและจัดแสดงกว่า 800 ผลงาน จากกว่า 30 ประเทศ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชมงานมากกว่า 10,000 คน
สำหรับ 9 หน่วยงานจากประเทศไทยที่ร่วมคว้ารางวัลในงาน “The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New Products” (iENA 2019) ได้แก่
-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)
-การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)
-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
-บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด
-บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)
-บริษัท ซุปเปอร์เซโย จำกัด โดยผลงานจากประเทศไทยที่นำเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ วช.ได้พิจารณาคัดกรองในหลายรูปแบบ ได้แก่ ผลงานที่ได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาผลงานจากวช.,ได้รับรางวัลและนำเสนอในเวทีระดับประเทศ อาทิ รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลระดับประเทศของหน่วยงาน,ผลงานที่มีการจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต เป็นต้น