วช. แถลงข่าวรางวัลการวิจัยแห่งชาติ และการจัดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2563

วช. ประกาศรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่น รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2563 และการจัดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2563” นำผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมใหม่จัดแสดงในงานกว่า 1000 ผลงาน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยงานสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีภารกิจที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ (ระดับปริญญาเอก) และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดยจัดเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2517 รวมระยะเวลาถึงปัจจุบันกว่า 46 ปี ถือเป็นรางวัลระดับชาติที่มีความเก่าแก่และเป็นที่ยอมรับ ซึ่งเดิมใช้ชื่อรางวัลว่า “รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ” โดยแบ่งรางวัลออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เป็นรางวัลที่มอบให้กับนักวิจัย ที่ได้อุทิศตนให้แก่การวิจัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีผลงานวิจัยดีเด่นที่แสดงถึงความคิดริเริ่ม รวมถึงผลงานวิจัยที่สร้างคุณูปการ และเกิดประโยชน์ในเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงชุมชน สังคม และเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีจริยธรรมของนักวิจัยเป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการนั้น ๆ 2) รางวัลผลงานวิจัย เป็นผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง 3) รางวัลวิทยานิพนธ์ เป็นรางวัลที่มอบให้กับนักวิจัยที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก และได้รับการเผยแพร่หรือในวารสารที่เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ และ 4) รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น เป็นรางวัลที่มอบให้กับนักประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์ผลงาน ที่เป็นของใหม่ หรือปรับปรุงให้ดีขึ้น มีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือนำไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นได้

สำหรับรางวัลการวิจัยแห่งชาติในปี 2563 นี้ มีผู้ได้รับรางวัล ดังนี้ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 9 ท่าน โดย สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา อมรกิจบำรุง จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และรองศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา จากสำนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นิวัฒน์ มณีกาญจน์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศาตราจารย์ ดร. นายสัตว์แพทย์พงศ์ราม รามสูต จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ศาสตราจารย์ ดร.อลิศรา เรืองแสง จากคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ ธนาศุภวัฒน์ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาปรัชญา ศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาการศึกษา ศาสตราจารย์ ดร.ทันตแพทย์หญิงศิริวรรณ สืบนุการณ์ จากคณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรองศาสตราจารย์ ดร.ทิศนา แขมมณี จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับรางวัลผลงานงานวิจัย มีผลงานที่ได้รับรางวัลจำนวน 41 ผลงาน แบ่งเป็น รางวัลระดับดีเด่น จำนวน 4 ผลงาน รางวัลระดับดีมาก จำนวน 7 ผลงาน และรางวัลระดับดี จำนวน 30 ผลงาน รางวัลวิทยาพนธ์ มีผลงานที่ได้รับรางวัล จำนวน 47 เรื่อง แบ่งเป็น รางวัลระดับดีเด่น จำนวน 2 เรื่อง รางวัลระดับดีมาก จำนวน 9 เรื่อง และรางวัลระดับดี จำนวน 36 เรื่อง

รางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น มีผลงานที่ได้รับรางวัล จำนวน 51 ผลงาน แบ่งเป็น รางวัลระดับดีเด่น จำนวน 1 ผลงาน รางวัลระดับดีมาก จำนวน 9 ผลงาน รางวัลระดับดี จำนวน 11 ผลงาน และรางวัลประกาศเกียรติคุณ จำนวน 30 ผลงาน นอกจากนี้ภารกิจที่สำคัญในการให้รางวัลแล้ว วช. ยังมีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยสนับสนุนทุนพัฒนาต่อยอดงานวิจัย เช่น ทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นกลาง (เมธีวิจัย) ทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ ทุนพัฒนาศักยภาพในการทางานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) ซึ่งผู้ได้รับรางวัลเหล่านี้สามารถเสนอผลงานเพื่อขอรับทุนต่อไปได้ เพื่อเป็นการสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงทุนในการพัฒนาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ให้สามารถเข้าสู่เชิงพาณิชย์ได้ก็สามารถเสนอผลงานเข้าสู่กระบวนการขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย และจะนำไปพัฒนาผลงานให้ได้ตามมาตรฐานบังคับของผลิตภัณฑ์

 สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ (ระดับปริญญาเอก) และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2563 จะมีพิธีมอบรางวัลในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2563 โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2563 พร้อมมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งการจัดงาน

“วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2563” นี้ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 22 เพื่อรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ในการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยและเป็นครั้งแรกของโลก รวมทั้งการเปิดเวทีในการแสดงสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพร้อมใช้และความก้าวหน้าด้านการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศให้เกิดการขยายผลและนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ พัฒนาก้าวไกล นวัตกรรมไทยยั่งยืน”

กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 “สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขเพื่อประชาชน” นิทรรศการน้อมรำลึกในหลวงรัชกาลที่ 9 “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” นิทรรศการผลงานประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ นิทรรศการผลงานที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ นิทรรศการผลงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยและบัญชีนวัตกรรมไทย นิทรรศการระดับนานาชาติ นิทรรศการผลงานจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา ทั้งในด้านความมั่นคง ด้านการเกษตร

ด้านอุตสาหกรรม ด้านนวัตกรรมการเรียนรู้ นวัตกรรมสำหรับผู้สูงวัย เป็นต้น จำนวนกว่า 1,000 ผลงาน จาก 200 หน่วยงาน นอกจากนี้ ยังมีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในระดับเยาวชน โครงการ Thailand New Gen Inventor Award : I  New Gen Award 2020 จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศกว่า 400 ผลงาน รวมถึงการจัดการประชุมเสวนา การฝึกอบรมในหัวข้อต่าง ๆ การให้บริการปรึกษาด้านการวิจัย การประดิษฐ์ เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา และการจัดจำหน่ายสินค้าจากกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ

 สำหรับ การจัดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2563 ในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2563 ณ Event Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมงานได้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 17.00 น.

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *