สิ่งหนึ่งที่สร้างความกังวลใจให้ผู้ป่วยผ่าตัดกระดูกสันหลัง คือ ความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัด และระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นตัว การรักษารูปแบบ ERAS (Enhanced Recovery After Surgery) คือ แนวทางปฏิบัติในการดูแลรักษาผู้ป่วย ตั้งแต่ก่อนผ่าตัดจนถึงหลังผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นแผลผ่าตัดขนาดเล็ก การผ่าตัดด้วยเทคนิคและอุปกรณ์เสริมพิเศษที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อที่แผ่นหลังน้อย โดยอาศัยการทำงานร่วมกันของบุคลากรทางการแพทย์สหสาขา(Multidisciplinary Approach) เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้ไว สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้โดยเร็ว
นพ.สาริจฉ์ ศรีสุภาพ ผู้อำนวยการศูนย์กระดูกสันหลัง รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ศูนย์กระดูกสันหลัง รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล ได้เลือกสรรวิธีที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งการรักษาในรูปแบบการส่งเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัด ERAS (Enhanced Recovery After Surgery) นั้น ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไว ลดอาการแทรกซ้อนได้ดี ให้สมกับความมุ่งมั่นที่ว่า “Customized the Best Treatment of Individual Patient” พร้อมให้การรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวม คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่ผู้ป่วยจะได้รับ โดยได้ให้การรักษาผู้ป่วยแล้วกว่า 300 ราย ซึ่งได้ผลลัพธ์ในการรักษาเป็นที่น่าพอใจ อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมความชำนาญทางการแพทย์สำหรับให้บริการการรักษาอาการปวดคอและหลังด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพ คือ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ศัลยแพทย์ระบบประสาท ทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์ด้านระงับปวดและพยาบาลที่มีความชำนาญและได้รับการอบรมเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง ครอบคลุมการรักษาอาการปวดคอและหลัง ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อค้นหาตำแหน่งในการปวด แล้ววางแผนการรักษาโดยเลือกเทคนิคการผ่าตัดและการรักษาแบบไม่ผ่าตัด ซึ่งเป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานตามหลักสากล ลดการผ่าตัดโดยไม่จำเป็น
นพ.ชัยเดช สระสมบูรณ์ ศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง กล่าวว่า เนื่องด้วยในปัจจุบันองค์ความรู้และวิวัฒนาการด้านการแพทย์มีการพัฒนาไปเป็นอย่างมาก ทำให้การผ่าตัดรักษาโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทมีประสิทธิภาพและให้ผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีกว่าในสมัยก่อน โดยเฉพาะการผ่าตัดที่ศูนย์กระดูกสันหลัง รพ. กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล เราใช้มาตรฐานการผ่าตัดรักษาที่เป็นมาตรฐานสากลและได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยให้การผ่าตัดกระดูกสันหลังมีความปลอดภัยมากขึ้น ใช้เทคนิคการผ่าตัดเพื่อให้เกิดแผลผ่าตัดที่บาดเจ็บน้อยลง นอนโรงพยาบาลสั้นลง มีอัตราการฟื้นตัวที่เร็วขึ้นและกลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น เรียกมาตรฐานที่ส่งเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัดนี้ว่า ERAS หรือ Enhanced Recovery After Surgery Protocols อาศัยการทำงานร่วมกันของบุคลากรทางการแพทย์สหสาขา (Multidisciplinary Approach) ดังนี้ 1.ทีมแพทย์ผ่าตัด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและการฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังผ่าตัดให้เร็วที่สุด แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดแบบ “MISS หรือ Minimally Invasive Spine Surgery” ซึ่งเป็นการผ่าตัดโดยเปิดแผลผ่าตัดขนาดเล็กและทำการผ่าตัดด้วยเทคนิคและอุปกรณ์เสริมพิเศษที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อที่แผ่นหลังน้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วกว่าวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิมและสามารถกลับบ้านได้เร็วขึ้น 2.ทีมวิสัญญีแพทย์ ด้วยเทคนิคการดมยาสลบและการให้ยาแก้ปวดตามโปรแกรมส่งเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัด (ERAS Protocols) จะช่วยทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาสลบและยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีนน้อยลง 3.ทีมแพทย์กายภาพบำบัด โดยจำเป็นต้องเข้าร่วมประเมินและพูดคุยกับผู้ป่วยตั้งแต่ช่วงก่อนการผ่าตัด เพื่อแนะนำและสอนวิธีการเตรียมร่างกายก่อนผ่าตัด และมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยทำกายภาพเพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในระยะหลังการผ่าตัด 4.ทีมอายุรแพทย์ มีบทบาทสำคัญทั้งช่วงการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดและหลังผ่าตัด โดยการตรวจวินิจฉัยและให้ยาควบคุมในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อาทิเช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคลิ่มเลือดอุดตัน เพื่อให้การผ่าตัดเป็นไปด้วยความปลอดภัย 5.ทีมพยาบาล เภสัชกร และนักโภชนาการ เป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นและมีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากที่สุด เพราะการผ่าตัดตามมาตรฐานส่งเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัด (ERAS) จำเป็นต้องมีการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงต้องมีความเคร่งครัดในเรื่องการเลือกใช้ยาและการควบคุมโภชนาการของผู้ป่วยทั้งในช่วงก่อนและหลังการผ่าตัดอีกด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าเพื่อการฟื้นตัวและผลลัพธ์ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่ดีนั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเอาใจใส่จากทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์หลากหลายสาขา ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าขาดการฝึกอบรมบุคลากรและการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องเตรียมการมาเป็นอย่างดี เพื่อทำให้แนวทางปฏิบัติในการดูแลรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ก่อนผ่าตัดจนถึงการฟื้นตัวหลังผ่าตัด ตาม ERAS Protocols เกิดความสมบูรณ์มากที่สุด
การผ่าตัดด้วยวิธี MIS (Minimally Invasive Surgery) แตกต่างจากการผ่าตัดแบบเปิดกว้าง (Open Laminectomy) ที่เป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิม ที่จะเปิดแผลผ่าตัดตรงกลางและทำการเลาะกล้ามเนื้อบริเวณรอบกระดูกสันหลัง และเข้าไปตัดกระดูกสันหลังส่วนลามินา เป็นส่วนหนึ่งของกระดูกสันหลังที่กดทับออก เพื่อทำการเปิดโพรงเส้นประสาทให้โล่ง ข้อดีการผ่าตัดแบบดั้งเดิมคือ สามารถขยายโพรงเส้นประสาทได้กว้าง แต่ข้อเสียคือ การผ่าตัดแบบเปิดกว้างทำให้มีการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อบริเวณโดยรอบ เสียเลือดมาก และมีโอกาสทำให้โครงสร้างกระดูกสันหลังเสียความมั่นคงได้มาก การผ่าตัดแบบเปิดแผลเล็กด้วยวิธี MIS โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ (Microscopic Decompression) เป็นการผ่าตัดเพื่อขยายโพรงเส้นประสาทที่มีข้อดีคือ คนไข้เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวไว และสามารถกลับบ้านได้เร็วเมื่อเทียบกับวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิม
นพ.ทายาท บูรณกาล ศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง กล่าวว่า เทคนิคการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี โดยจำแนกเป็น 2 วิธีหลักได้แก่ 1.การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังโดยวิธีการโรยกระดูกเข้าจากด้านหลัง (Posterolateral Fusion) เป็นวิธีการผ่าตัดแบบปกติเดิม การผ่าตัดชนิดนี้ต้องเปิดแผลกว้าง อัตราการเชื่อมไม่แน่นอนและติดไม่แข็งแรง 2.การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังโดยวิธี Interbody Fusion เป็นเทคนิคการผ่าตัด โดยนำหมอนรองกระดูกสันหลังเดิมของผู้ป่วยออกเพื่อแทนที่ด้วยหมอนรองกระดูกเทียมและวัสดุกระตุ้นการเชื่อมกระดูก ซึ่งการผ่าตัดวิธีนี้ไม่จำเป็นต้องเปิดแผลใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียเลือดน้อยกว่า การฟื้นตัวเร็วกว่าและมีอัตราความสำเร็จในการเชื่อมข้อกระดูกสูงกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม โดยเทคนิคการผ่าตัด Interbody Fusion ยังแบ่งออกเป็นอีกหลายเทคนิค แต่หนึ่งในเทคนิคกำลังเป็นที่นิยมกันมาก คือ การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังแบบเข้าข้างลำตัว ด้วยวิธี ”โอลิฟ OLIF” (Oblique Lumbar Interbody Fusion) เป็นการผ่าตัดเพื่อใส่อุปกรณ์กระดูกสันหลังเทียม (Interbody Cage) จากทางด้านข้างลำตัว โดยทำการใส่อุปกรณ์ช่วยผ่าตัดทางด้านหน้าต่อกล้ามเนื้อโซแอส (Psoas Muscle) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่เชื่อมกระดูกสันหลังเข้ากับส่วนล่างของร่างกาย เป็นวิธีการผ่าตัดที่สามารถหยิบเศษหมอนรองกระดูกเดิมที่เสื่อมสภาพออกได้มากและสามารถใส่อุปกรณ์กระดูกเทียมที่มีขนาดใหญ่และแข็งแรงได้ รวมทั้งยังสามารถทำได้หลายระดับ โดยบาดเจ็บน้อย ช่วยแก้ไขแนวกระดูกที่บิดเบี้ยวได้ดี และมีประโยชน์มากโดยเฉพาะในผู้สูงอายุจะปลอดภัยมากขึ้น
นพ.คณิต จำรูญธเนศกุล ศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเรื้อรังและร้าวชาลงขาจากกระดูกที่เสื่อมเคลื่อนคลอนและเกิดการกดทับเส้นประสาทของผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง แพทย์จะเลือกใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบทีลิฟMIS TLIF (Minimally Invasive Surgery Transforaminal Lumbar Interbody Fusion) คือการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังผ่านกล้องเข้าทางด้านหลังแบบแผลเล็ก เป็นการผ่าตัดเพื่อขยายโพรงเส้นประสาทและใส่อุปกรณ์กระดูกเทียม (Interbody Cage) เพื่อเชื่อมกระดูกที่หมอนกระดูกสันหลัง โดยการผ่าตัดผ่านกล้องจากทางด้านหลัง และใส่โลหะดามกระดูกสันหลังผ่านรูเจาะที่ผิวหนังโดยไม่เปิดแผล วิธีนี้จึงเป็นทั้งการเชื่อมกระดูกและคลายเส้นประสาทที่ถูกกดทับไปพร้อมกัน และด้วยแผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็ก จึงลดความบอบชํ้าของคนไข้ และเสียเลือดไม่มาก ลดผลข้างเคียงจากการได้รับยาฉีดแก้ปวดหลังผ่าตัดที่น้อยลง ข้อดีของการผ่าตัดชนิดนี้คือสามารถทำการขยายโพรงเส้นประสาทที่ตีบแคบได้ดี และยึดตรึงเชื่อมข้อกระดูกให้มั่นคงแข็งแรง โดยที่ปวดแผลน้อย ฟื้นตัวและลุกยืนเดินหลังผ่าตัดได้เร็ว
ทั้งนี้ ศูนย์กระดูกสันหลัง รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล มีโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาปวดหลัง ซึ่งเป็นการรักษาที่ได้มาตรฐานตามหลักสากล ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก JCI (Joint Commission International) จากสหรัฐอเมริกา เป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีมแพทย์สหสาขา พร้อมเป็นศูนย์กลางข้อมูล และให้คำปรึกษา วางแผนแนวทางการรักษาโรคกระดูกสันหลังและคอที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่ผู้ป่วยจะได้รับเป็นสำคัญ Reboot Your Balance เพราะเราอยากให้คุณเคลื่อนไหวได้อย่างสมดุล สามารถสอบถามรายละเอียดหรือรับคำปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ โทร 02-755-1549-50 หรือ Contact Center 1719