เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมเอวัน เดอะ รอยัลครูซ พัทยา จ.ชลบุรี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. จัดประชุมปัจฉิมนิเทศ “สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงานกับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะเป็นกลุ่มนักศึกษาทุนในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่กำลังจะสำเร็จการศึกษารวม 1,106 คน ครู อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา รวม 32 สถาบัน นอกจากนี้มีผู้บริหารสถานประกอบการต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการ โดยมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาทุนในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาได้มีการศึกษาผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม รวมทั้งพัฒนาให้เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมการสร้างงานให้แก่นักศึกษาทุน
ผศ.ดร.อนุศิษฏ์ อันมานะตระกูล รองคณบดีฝ่ายบริหารคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ภาพรวมของการดำเนินการโครงการ ต้องการมุ่งเน้นให้นักศึกษา ได้เสริมสร้างกระบวนทัศน์และกระบวนการทางความคิดของตัวนักศึกษาเอง เหมือนเป็นมิติในการส่งเสริมระหว่างเด็กทุน ครู และ กสศ. ซึ่งมีหน้าที่หลักในการคอยสนับสนุนดูแลช่วยเหลือ สร้างความเข้าใจในโครงการฯ กระบวนการทำงาน รวมถึงช่วยให้คำแนะนำปรึกษาช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคให้นักศึกษาทุนฯ
“ถ้าคนเราได้มีโอกาสทางการศึกษา เชื่อว่าจะสามารถช่วยยกระดับในการประกอบสัมมาอาชีพของตนเองและความเป็นอยู่ ช่วยให้เห็นถึงในมุมมองของการใช้ชีวิต ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เปรียบเสมือนคานงัด เป็นพลังที่สามารถจะยกระดับต่อไปได้ถ้ามีการศึกษาที่ดีขึ้น อันจะนำไปสู่การพัฒนาตัวเองอย่างมีคุณภาพ พัฒนาไปสู่คนรอบข้าง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติตามลำดับ ถึงแม้คนกลุ่มนี้จะมีเพียงแค่ 1% จากทั้งประเทศ หากว่ามีการเรียนรู้จนเกิดการพัฒนาแล้ว เชื่อว่ายังไงก็สามารถไปต่อได้” ผศ.ดร.อนุศิษฎ์ กล่าว
ขณะที่ นางปุญจิรา หมอทรัพย์ หัวหน้างานแนะแนว และนายเกษตร ทองสุข หัวหน้าแผนกเมคคาทรอนิกส์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) เปิดเผยว่า โครงการทุนนวัตกรรมของ กสศ.ถือเป็นการเปิดเวทีให้นักศึกษาที่เข้าหลักเกณฑ์เรียนดี แต่ยากจน ที่มีความสามารถ ได้เข้าถึงโครงการฯ ได้มากขึ้น และนักศึกษาสามารถมีโอกาสที่จะร่วมแชร์ความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาต่างสถาบัน ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างสัมพันธภาพที่ดีร่วมกันในกลุ่มนักศึกษา และยังเป็นการเสริมสร้างการเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาได้มีความรู้มากขึ้น ทั้งนี้ เพราะประโยชน์ที่นักศึกษาได้รับจะเป็นองค์ความรู้ที่ตัวนักศึกษาเองจะสามารถนำไปต่อยอดศึกษาหาความรู้ในระดับที่สูงขึ้น หรือสามารถรับผิดชอบตัวเองได้ และให้มีการพัฒนาตัวเองอย่างมีคุณภาพต่อไปได้ และทุกผลงานที่เกิดจากการศึกษาคิดค้นทั้งหมดก็สามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้ด้วย
ด้าน นายอองแช นักศึกษาชั้นปีที่ 2 อนุปริญญา สาขาเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยชุมชนตราด ซึ่งเป็นนักศึกษาชาวพม่าที่เข้ามาศึกษาเล่าเรียนอยู่ในไทยและเป็นตัวแทนนักศึกษาที่มาร่วมแสดงผลงานในครั้งนี้ กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมาก เพราะนักศึกษาจากต่างสถาบันได้พบปะพูดคุยสร้างความสนิทสนมกันก่อนจะจบการศึกษาออกไปหางานทำ การได้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ถือว่าได้ความรู้แบบประสบการณ์จริงที่ได้ออกบูธนำเสนอผลงาน ซึ่งสามารถติดต่อประสานงานพูดคุยกันได้อย่างเข้าถึง
สำหรับผลงานที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้จะมีด้วยกัน 3 ผลงาน ประกอบด้วย สับปะรดตราดสีทอง ข้าวเกรียบเคย และผงกล้วยน้ำหว้าดิบ ซึ่งเป็นผลงานด้านนวัตกรรมที่มุ่งเน้นในการช่วยเหลือเกษตรกรและชุมชนในพื้นที่ด้วยการนำเาอผลผลิจทางการเกษตรที่ตกเกรดนำมาแรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ ซึ่งในอนาคตจะมีการคิดค่อยอดฝนเรื่องของการนำเอาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ นำมาหาคิดค้นนวัตกรรมหาวิธีในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรมาช่วยแก้ปัญหาให้กับชุมชนต่อไปด้วยเช่นกัน