เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เครือข่ายภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันจัดงานมหกรรมกินปูม้า จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อกระตุ้นการซื้อขายสินค้าผลิตภัณฑ์ปูม้า สินค้าอาหารทะเลอื่นๆ พร้อมสร้างกลไกเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยศูนย์เรียนรู้และธนาคารปูม้าในเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี ได้ร่วมกันออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปูม้าที่ผลิตโดยชุมชน ได้รับความสนใจจากนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก ณ ลานตลาด Bota Market อุทยานพฤกษศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ กล่าวในพิธีเปิดงานมหกรรมกินปูม้าว่า ม.วลัยลักษณ์ร่วมมือกับเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อดำเนินการกิจกรรมวิจัยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนชายฝั่งโดยใช้ทรัพยากรปูม้าเป็นตัวขับเคลื่อน เพิ่มผลผลิตปูม้าในธรรมชาติ ทำให้ชาวประมงได้ผลจับปูม้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล พี่น้องเกษตรกรชาวประมงชายฝั่งมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้นำคณาจารย์ภายในมหาวิทยาลัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ คิดค้นตำรับเมนูปูม้าอัตลักษณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช สร้างแบรนด์สินค้าชุมชนคุณภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชอีกด้วย
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยและบริการวิชาการเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า กล่าวว่า งานมหกรรมกินปูม้าในครั้งนี้จัดขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก วช. ผ่านการดำเนินโครงการธนาคารปูม้าที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ดูแลในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวนกว่า 84 แห่ง มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการซื้อขายสินค้าทั้งที่เป็นสินค้าปูม้า สินค้าอาหารทะเลอื่นๆ และร้านค้าชุมชน เพื่อสร้างกลไกเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีเครือข่ายธนาคารปูม้าทั้ง 6 อำเภอชายฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ อำเภอขนอม สิชล ท่าศาลา เมืองนครศรีธรรมราช ปากพนัง และหัวไทร เข้าร่วมกิจกรรมจัดตั้งบูท ออกร้านจำหน่ายสินค้าปูม้าและอาหารทะเล ภายใต้มมาตรการป้องการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 อย่างเข้มข้นอีกด้วย
“โครงการธนาคารปูม้า และโครงการธนาคารปูม้าได้ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่มีความโดดเด่นและประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งขณะนี้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรม สามารถเพิ่มทรัพยากรปูม้าให้แก่ทะเลไทยได้เป็นจำนวนมาก ชาวประมงชายฝั่งสามารถจับปูได้มากขึ้น สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่ประชาชน ภายใต้การดำเนินงานขับเคลื่อนร่วมกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยธนาคารปูม้า มวล.วช. เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมกลไก สร้างความเข้มแข็งของชุมชนและทรัพยากรในพื้นที่ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ กล่าว