วันนี้ (27เมษายน 2564) นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนภาคีเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ทำงานร่วมกับสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยโฟกัสพื้นที่ตลาด 472 แห่งในกรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต เพื่อลดความเสี่ยงโควิด-19 โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่การแพร่ระบาดในระรอกแรก ทั้งสนับสนุนอ่างล้างมือเท้าเหยียบ ซึ่งเป็นผลงานของกลุ่มน้องๆเยาวชน ที่ช่วยกันผลิต การทำสปอตเสียงตามสาย รวมไปถึงสื่อประชาสัมพันธ์ เบนเนอร์ สติกเกอร์ ป้ายพีพีบอร์ด เพื่อให้ทุกตลาดเผยแพร่ประชาสัมพันธ์มาตรการลดความเสี่ยง เน้นย้ำว่า “โควิด -19 ยังไม่จบ ปลอดภัยไว้ก่อน” สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เช็คอินท์ไทยชนะ จำกัดทางเข้าออก ตรวจวัดอุณหภูมิคัดกรอง มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือวางตามจุดต่างๆ ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้บริหารตลาด พ่อค้าแม่ค้ารวมไปถึงประชาชนที่มาจับจ่ายใช้สอยในตลาด ซึ่ง สสส.ต้องขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย
“ตลาด ร้านค้าหรือหน่วยงานที่ต้องการไฟล์สื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สปอตเสียงตามสาย สามารถเข้าไปดาวโหลด ได้ที่ www.thaihealth.or.th เพื่อกระจายการรับรู้ให้กว้างขวางที่สุด แต่สิ่งที่อยากจะเพิ่มเติมคือ การวางแผนจับจ่ายเพื่อใช้เวลาในตลาดให้น้อยที่สุด ไม่เข้าไปในจุดที่มีคนจำนวนมาก ควรหลีกเลี่ยงการใช้เงินสดหันมาใช้วิธีจ่ายผ่านทางแอพมือถือ ของธนาคารต่างๆ หรือหากจำเป็นต้องจับเงิดสดควรต้องใช้สเปรย์แอลกอฮอล์ฉีดพ่นเพื่อฆ่าเชื้อ การรักษาตลาดไว้เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน ของคนทุกกลุ่มมีความสำคัญมากที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อให้เราผ่านพ้นช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ไปให้ได้” นางสาวรุงอรุณ กล่าว
ด้านนางสาวเครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต กล่าวว่า ปัจจุบันแทบจะไม่เห็นคำสั่งปิดตลาดนานหลายๆวัน มีปิดเพียง1-3วัน หรือปิดเฉพาะโซน ซึ่งเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่ไม่ปิดตลาดแบบเหมารวม อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และจะเห็นการปรับตัวชัดเจนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับตลาด โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งเครือข่ายฯได้ลงพื้นที่ทำงานตั้งแต่โควิด-19 ระบาดรอบแรก สำนักงานเขตต่างๆได้ให้ความสำคัญและร่วมกันสร้างมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่จากการลงพื้นที่ช่วงที่ผ่านมาพบว่า ยังมีตลาดอีกประเภทที่ไม่ได้อยู่ในระบบ ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ส่วนใหญ่เป็นตลาดนัดใช้พื้นที่ข้างทาง มีพ่อค้าแม่ค้ารวมกลุ่มตั้งวางของขายในช่วงเช้า หรือช่วงเย็น ส่วนใหญ่ขายเสร็จแล้วยกกลับ พบว่าไม่จำกัดทางเข้าออก ไม่คัดกรอง หรือประชาสัมพันธ์ใดๆ ทำให้จุดนี้น่าเป็นห่วง จึงอยากให้ กทม.ใช้โอกาสนี้พัฒนาตลาดเหล่านี้ เพื่อยกระดับให้อยู่ในระบบ และวางมาตรการที่เข้มงวดเช่นเดียวกับตลาดที่ขึ้นทะเบียน ทั้งนี้ อยากฝากไปถึงพ่อค้าแม่ค้า ให้เคร่งครัด ยึดหลักปลอดภัย ใส่หน้ากากตลอดเวลา ห้ามดึงมาไว้ใต้คางเด็ดขาด