ภาครัฐ-เอกชน นำโดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, อิมแพ็ค และพันธมิตรธุรกิจ ร่วมทำพิธีเปิดงานแสดงสินค้า ดิจิเทค อาเซียน ไทยแลนด์ 2022 หรืองานแสดงสินค้าและสัมมนาด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลแห่งอาเซียน และ ไทยแลนด์ ไลฟ์ลอง เลิร์นนิ่ง แอนด์ เอดยุเคชั่น เอ็กซ์โป มหกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและอาชีพอย่างยั่งยืน ถือเป็น 2 งานใหญ่ครอบคลุมธุรกิจดิจิทัลและสนับสนุนการเรียนรู้พัฒนาทักษะแห่งอนาคต จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2565 ณ อาคาร 7-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี คาดมีผู้สนใจจากองค์กร หน่วยงาน ด้านดิจิทัลและการศึกษาเข้าร่วมงานกว่า 20,000 ราย
ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2561 กระทรวงฯ ได้วางรากฐานโครงสร้างดิจิทัลเป็นแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ “สังคมดิจิทัล” และเป้าหมายต่อไปคือการขยายผลสร้าง “เศรษฐกิจดิจิทัล” หรือการสร้างเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มจากพลังของข้อมูลและป้องกันเงินไหลออกสู่เจ้าของแพลตฟอร์มต่างประเทศ จนถึงปัจจุบันประเทศไทย ได้เข้าสู่การเป็นสังคมดิจิทัลแล้ว และไทยยังเป็นชาติลำดับต้นๆ ของโลกที่มีการใช้งาน (adopt) สื่อออนไลน์ สื่อโซเชียล การซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทย ประจำปี 2565 หรือ Thailand Internet User Behavior (IUB) 2022 จัดทำโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ในภาพรวมพบว่าคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน
นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น กลายเป็น “ตัวเร่ง” ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ทางภาครัฐริเริ่มไว้ จนกลายมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งมีหลายหน่วยงานให้ความสนใจขอเข้าใช้งาน และนำมาเป็นช่องทางสื่อสารให้บริการประชาชน คนไทยคุ้นเคยกับการใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆ มากขึ้น การนำดิจิทัล เข้ามาใช้ในช่วงโควิด-19 โดยผลสำรวจข้างต้นของ ETDA พบว่า กิจกรรมออนไลน์ยอดฮิตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย ได้แก่ ปรึกษาและรับบริการทางการแพทย์ (จองคิว,ปรึกษาแพทย์) มากที่สุด 86.16% อาจเพราะสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้คนสนใจและหันมาจองคิวรับวัคซีน รองลงมาคือ เพื่อติดต่อสื่อสาร 65.70% ดูรายการโทรทัศน์/คลิป/ดูหนัง/ฟังเพลง 41.51% ดูถ่ายทอดสดเพื่อซื้อสินค้าและบริการ (Live Commerce) 34.10% ทำธุรกรรมทางการเงิน 31.29% อ่านโพสต์/ข่าว/บทความ/หนังสือออนไลน์ 29.51% รับ-ส่งอีเมล 26.62% ช้อปปิ้งออนไลน์ 24.55% ทำงาน/ประชุมออนไลน์ 20.67% และเล่นเกมออนไลน์ 18.75% ตามลำดับ
ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยจากความเสี่ยงที่มากับอินเทอร์เน็ต และสามารถสร้างให้เกิด “เศรษฐกิจดิจิทัล” จะต้องประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1.) การกำกับดูแล Digital Service 2.) การป้องกันภัยจากการหลอกลวงออนไลน์ (Scammer) 3.) การสร้าง value added ให้อยู่ในประเทศไทย
ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนากำลังคนและทุนทางปัญญาของประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ และเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติในทุกมิติอย่างยั่งยืน
ทางกระทรวง อว. มีความยินดีและภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการจัดงาน Digitech ASEAN Thailand และ Thailand Lifelong Learning & Education Expo 2022 ซึ่งงานในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้ทราบว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีของผู้ประกอบการในไทยและภูมิภาคอาเซียน มีความก้าวหน้าทัดเทียมกับกลุ่มประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงมั่นใจว่างานนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ในความร่วมมือและเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนการพัฒนาต่อยอดต่อไปในอนาคตอย่างต่อเนื่อง
ดร.ปรีสาร รักวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่าระยะเวลากว่า 2 ปีของวิกฤตการณ์โควิด -19 ส่งผลถึงปัจจุบันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องคิดว่าควรหรือไม่ควรที่จะปรับเปลี่ยนสังคมสู่การเป็นดิจิทัลอีกต่อไป เพราะวันนี้โลกได้พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า เทคโนโลยีจะเป็นส่วนสำคัญของการนำพาทุกธุรกิจเข้าสู่การแข่งขันด้านข้อมูลอย่างแท้จริง ประเทศไทยที่มีพื้นที่ในการแสดงศักยภาพ และส่งเสริมการสร้างโอกาสในการขยายเครือข่ายทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก จนถึงขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในด้าน ซอฟต์แวร์เพื่อธุรกิจ, ปัญญาประดิษฐ์, ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ , อีคอมเมิร์ซ , ดาต้า, คลาวด์ , สมาร์ทโซลูชันและไอโอที เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาใช้ในธุรกิจให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
โดยทาง ดีป้า ซึ่งมีบทบาทการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาใช้ในธุรกิจทุกรูปแบบ และยังสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทย ตามแผนพัฒนาดิจิทัล 20 ปี เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ จึงพร้อมให้การสนับสนุนการจัดงาน DigiTech ASEAN Thailand 2022 เพื่อแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการส่งเสริมและขับเคลื่อนเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ และอาเซียนให้ขับเคลื่อนเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป
นายลอย จุน ฮาว ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวถึงความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ในการจัดงานดิจิเทค อาเซียน ไทยแลนด์ และ ไทยแลนด์ ไลฟ์ลอง เลิร์นนิ่ง แอนด์ เอดยุเคชั่น เอ็กซ์โป 2022 ว่า นับเป็นความน่ายินดีอย่างมาก ที่ทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนาศักยภาพของบุคคลไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจและเศรษฐกิจประเทศ รวมไปถึงความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคมอนาคต
สำหรับการจัดงานดิจิเทค อาเซียน ไทยแลนด์ 2022 (DigiTech ASEAN Thailand) ถืองานแสดงสินค้าและสัมมนาด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลแห่งอาเซียน ซึ่งรวมผู้ประกอบการเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบการจัดการในอุตสาหกรรมต่างๆ กว่า 150 แบรนด์ชั้นนำมาจัดแสดงสินค้าในที่เดียว ช่วยให้ทุกองค์กรได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์ ได้เรียนรู้ และสัมผัสเทคโนโลยีดิจิทัลล่าสุด
ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์เพื่อธุรกิจ, ปัญญาประดิษฐ์, ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์, อีคอมเมิร์ซและการตลาดดิจิทัล, ดาต้าและคลาวด์, สมาร์ทโซลูชั่นส์และไอโอที รวมไปถึงเทคโนโลยี 5G และเครือข่าย ภายใต้ธีม “Connecting You with the Global Tech and Digital Community” นอกจากนี้ ยังมีการจัดสัมมนาวิชาการในหลากหลายประเด็นน่าสนใจรวมทั้งหมดกว่า 80 หัวข้อ เพื่อเป็นความรู้ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจและเพื่อการเติบโตของธุรกิจดิจิทัลในภูมิภาค
ในส่วนของงานไทยแลนด์ ไลฟ์ลอง เลิร์นนิ่ง แอนด์ เอดยุเคชั่น เอ็กซ์โป 2022 (Thailand Lifelong Learning & Education Expo ) หรือ มหกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและอาชีพอย่างยั่งยืน จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นสร้างความตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาและการต่อยอดทักษะ การปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาตนเอง และการศึกษาในประเทศไทย เปิดโอกาสให้ได้พบปะและแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านนวัตกรรม ทิศทาง ข้อคิด และแนวทางต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษา เทคโนโลยี และการเรียนรู้ตลอดชีวิต สอดรับกับเทรนด์โลกอนาคต ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนตื่นตัวเรื่องการเรียนรู้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับกลุ่มคนทุกช่วงวัย เช่น กลุ่มผู้ปกครองที่ต้องการสนับสนุนการเรียนรู้ของลูก ด้วยหลักสูตรเสริมสร้างความรู้เดิม เพิ่มเติมทักษะใหม่ หรือหลักสูตรค้นหาตัวตนความถนัด และความชอบของตนเอง เพื่อนำไปต่อยอดการเรียนให้ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
ภายในงานนี้ได้รวมผู้ประกอบการกว่า 200 บริษัทชั้นนำมานำเสนอโปรแกรมการอัพสกิลและรีสกิล รวมถึงยังมีการจัดฝึกอบรม สัมมนา การให้คำปรึกษาต่างๆ อีกทั้งยังมีโปรแกรมเจรจาธุรกิจที่เปิดโอกาสในการขยายและสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ เวิร์กชอปเพื่อพัฒนาและต่อยอด สกิลจากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานชั้นนำด้านการศึกษา พร้อมการสัมมนาจากกูรูชั้นนำที่จะมาร่วมบรรยายในหลากหลายแง่มุม ด้านการศึกษาตลอดชีวิต การพัฒนาทักษะ Upskill Reskill ไว้มากกว่า 50 รายคลอบคลุม 80 หัวข้อที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม นับเป็นโอกาสดีที่ทุกคนจะได้กลับมาพบปะกันบนพื้นที่จริงอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งทั้ง 2 งานนี้มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2565 โดยงาน DigiTech ASEAN Thailand เปิดให้เข้าชมและร่วมเจรจาธุรกิจ ในวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.00-18.00 น. ณ อาคาร 7 ส่วนงาน Thailand Lifelong Learning & Education Expo เปิดให้เข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2565 ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น และ 25 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.00-18.00 น.ณ อาคาร 8 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ทั้งนี้ คาดว่าจะได้รับผลตอบรับที่ดี มีผู้สนใจจากองค์กร หน่วยงาน ด้านการพัฒนาดิจิทัลและการศึกษาเข้าร่วมงานกว่า 20,000 ราย