คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ มอบประกาศนียบัตรผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรกายภาพบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพระยะกลาง Program of Physical Therapy (Rehabilitation in Intermediate Care) หรือ IMC รุ่น 2
ดร.กัลยา ก้องวัฒนากุล อาจารย์ประจำคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต และประธานหลักสูตรระยะสั้นกายภาพบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพระยะกลาง กล่าวว่า คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ร่วมกับ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้เข้าอบรมหลักสูตรการอบรมระยะสั้นกายภาพบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพระยะกลาง รุ่น 2 โดยได้วางเป้าหมายของคนที่สำเร็จจากหลักสูตรนี้คือ ผู้เข้าอบรมสามารถที่จะกลับไปวางระบบการจัดบริการได้ ดังนั้น การที่จะไปจัดระบบได้นั้นต้องอาศัยข้อมูลหลายอย่าง สามารถคิด วิเคราะห์เป็น และได้ไปเห็นตัวอย่างของการจัดบริการนี้มาก่อน ซึ่งเราคาดหวังว่าคนที่จบหลักสูตรนี้จะนำความรู้ไปออกแบบระบบ และนำไปพัฒนาระบบบริการต่อไปด้วย
“เนื่องจากระบบบริการนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น การที่จะทำให้ระบบบริการนี้เกิดประโยชน์กับคนไข้กลุ่มที่มีความจำเป็นจริงๆ อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นที่จะต้องหาแนวทางในการที่จะพัฒนาระบบบริการต่อไป ซึ่งจะเป็นการจุดประกายให้เขา และเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้วิชาชีพกายภาพบำบัดเติบโตขยายหน้างานขึ้น ในขณะเดียวกันคนที่เป็นคนทำงานเองก็จะได้มีความภาคภูมิใจ มีการเติบโตทางอาชีพของเขาต่อไป” ประธานหลักสูตรฯ กล่าว
ด้าน นางสาววราทิพย์ บุญรักษา โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกดีใจและภูมิใจในการที่ได้เข้ามาเรียนในหลักสูตรของนักกายภาพบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพระยะกลาง หรือ IMC รู้สึกว่าเราได้เห็นความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยรังสิตในการที่จะพัฒนาศักยภาพของนักกายภาพบำบัดของวิชาชีพและของการดูแลผู้ป่วยเพื่อประโยชน์ที่ดีขึ้นของคนไข้ นอกจากนี้ ยังได้พบกับเพื่อนจากหลากหลายโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไป ที่มีมุมมองหลายความคิด ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและขับเคลื่อนงานพัฒนางานร่วมกันได้ดีขึ้น
นายสุธี ทนุพงศ์ไพศาล โรงพยาบาลบางเลน จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับการอบรมทำให้เราได้เห็นภาพการทำงาน การดูแลผู้ป่วยระยะกลางตามหลักสูตรได้ชัดเจนมากขึ้น เป็นระบบการทำงานที่เชื่อมโยงกันในแต่ละโรงพยาบาล และได้มีการทบทวนองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่อาจารย์ได้นำมาสอดแทรกให้เราได้เรียนรู้และฝึกใช้งานจริง สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาในโรงพยาบาลของตัวเองให้มีรูปแบบและระบบที่ดียิ่งขึ้นไป เพื่อประโยชน์ของคนไข้มากที่สุด
นางสาวปิยะนุช สวนสิน โรงพยาบาลปากช่องนานา จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก สามารถนำไปปรับใช้กับโรงพยาบาลได้ ในขณะที่โรงพยาบาลใหญ่ก็สามารถนำไปปรับใช้กับการส่งต่อผู้ป่วยไปสู่โรงพยาบาลเล็กซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกัน ทำให้งานเข้มแข็งขึ้น ความรู้ที่ได้รอบด้านมากขึ้นนอกจากงานประจำที่เราทำ มีภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในการที่เราจะมุ่งเป้าไปสู่การทำงานในกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เริ่มจะมากขึ้นในทุกวัน และกลุ่มโรคนี้สามารถพัฒนาได้ ทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าเราปรับเพียงบางส่วนเล็กๆ จะกลายเป็นฟันเฟืองที่สามารถขับเคลื่อนส่วนใหญ่ได้