ตามที่นายเศษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รับข้อเสนอของผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่ขอให้นายกรัฐมนตรียกเลิกเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารช่วง 14.00-17.00 น. ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2515 โดยอ้างว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่ทได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว
วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 – รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับเวลาห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เป็นประกาศของคณะปฏิวัติเมื่อราวๆ 50 ปี ที่แล้ว ซึ่งยังมีผลบังคับใช้จนถึงทุกวันนี้ แต่ด้วยที่มาของกฎหมายทำให้มีข้อถกเถียงว่าไม่ได้มาจากอำนาจที่ไม่ใช่อำนาจประชาธิปไตย และเดิมเป็นผลมาจากความกังวลว่า บรรดาข้าราชการ พนักงาน ออกไปรับประทานอาหารกลางวันแล้วจะแอบไปดื่มเหล้าเบียร์ทำให้เสียงานเสียการ อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้มีข้อดีคือลดการดื่มในช่วงกลางวัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน เป็นช่วงที่เด็กๆเลิกเรียน คนทำงานเลิกงานกลับบ้านไม่ควรอยู่กับความเสี่ยงเพราะคนเมา
หากมีคนเมาจำนวนมากบนถนนจากการขยายเวลา คนเมาบนถนนจะมากขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีจำนวนมากพอที่จะตั้งด่านตรวจได้ทั้งวัน ดังนั้น การมีกฎหมายนี้อย่างน้อยก็จะช่วยลดปัญหาในช่วงที่การจรจรหนาแน่นในช่วงบ่ายถึงเย็นได้ พอเริ่มดื่มได้ก็เป็นช่วงที่เด็กนักเรียน คนทำงานถึงบ้านกันหมดแล้ว โดยส่วนตัวจึงมองว่า แม้ตอนเริ่มต้นกฎหมายอาจจะไม่มีความชอบธรรมนัก แต่เมื่อมันอยู่มาแล้วมีผลดีอย่างอื่น ช่วยปกป้องคนใช้รถ ใช้ถนนช่วงบ่ายถึงเย็น คือนักเรียน และคนทำงานก็ควรคงไว้
“ผมอยู่ในทีมคณะนักวิชาการที่ไปประเมินนโยบายขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานบริการถึงตี 4 ใน 5 พื้นที่ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยว เมื่อเทียบกับอีก 17 จังหวัดที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวเหมือนกัน เมื่อเดือน มกราคม – กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า สถิติท่องเที่ยวในจังหวัดที่ขยายเวลาเปิดผับนั้น แย่กว่าจังหวัดที่ไม่ได้ขยายอีก ขณะที่ปัญหาเมาแล้วขับนั้นยิ่งชัดเจนว่าเพิ่มมากกว่าจังหวัดที่ไม่ได้ขยาย ถึง 114 เปอร์เซ็น อันนี้เป็นการพิสูจน์ในเบื้องต้นว่า การที่รัฐบาลหาอะไรมากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการขยายเวลาดื่มนิดๆ หน่อยๆ จริงๆ แล้วมันกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่จริงเท่าไหร่ แต่ผลกระทบเกิดเพิ่มขึ้นแน่ๆ จึงควรทบทวนยกเลิกนโยบายนี้โดยเร็ว นี่เป็นข้อมูลที่หนักแน่นเพียงพอที่ชี้ให้เห็นว่า การขยายเวลาการดื่มอาจจะไม่ได้กระตุ้นการท่องเที่ยวขนาดนั้น การส่งเสริมเรื่องอื่นที่รัฐบาลพยายามทำอยู่น่าจะมีประโยชน์มากกว่า การเพิ่มเวลาขายช่วงบ่ายก็เช่นเดียวกันจะได้ไม่คุ้มเสีย” รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว.
ด้านนายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) กล่าวว่า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมกันถึง 5 ฉบับจากทั้งฝ่ายที่ต้องการให้ผ่อนคลายการควบคุม ให้ค้าขายได้เสรีมากขึ้นและฝ่ายที่ต้องการให้ควบคุมเข้มแข็ง ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ และประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือการกำหนดยกเลิกคำสั่งคณะปฏิวัติที่ 253 เพื่อให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ สอดคล้องกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม สามารถออกเป็นอนุบัญญัติได้ อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้คงต้องรอให้ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาผ่านร่างแก้ไขกฏหมายฉบับนี้ก่อน จึงสามารถปรับแก้อนุบัญญัติกำหนดเรื่องเวลาขายใหม่ แต่ก็ควรเปิดพื้นที่ในการถกเถียงให้ข้อมูลที่รอบด้านก่อนตัดสินใจ
“แต่สิ่งที่รัฐบาลควรตระหนัก และเอาความจริงมาชั่งน้ำหนักว่า มาตรการเพิ่มการกินดื่มนั้นกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ เมื่อแลกกับผลกระทบมันคุ้มกันจริงหรือไม่ เพราะหลักฐานเชิงประจักษ์ในห้าพื้นที่นำร่องที่ขยายเวลาสถานบริการไปถึงตีสี่ก็ชัดเจนแล้วว่า ได้ไม่คุ้มเสียกับอุบัติเหตุเมาแล้วขับที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว ซึ่งในนั้นมีคนเจ็บ ตาย พิการ และที่สำคัญมาตรการต่าง ๆ ที่ขอความร่วมมือให้สถานบริการปฏิบัติ เช่นการตรวจวัดแอลกอฮอล์ จัดรถรับส่ง ฯลฯ มันเป็นจริงน้อยมาก และหากจะเพิ่มเวลาขายช่วงบ่ายเพื่อเอาใจร้านอาหารผับบาร์ หรือนายทุนน้ำเมากันอีกมันจะซ้ำรอยเดิมอีกหรือไม่ และสิ่งที่ควรทำอื่นๆ เพื่อรับมือกับผลกระทบ ได้เตรียมการอะไรไว้บ้างที่ไม่ใช่แค่ขอความร่วมมือเช่น การแก้กฏหมายเพิ่มโทษคนเมาแล้วขับ การตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงการแก้ไข พรบ.สถานบริการ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยพิสูจน์ว่าแม้รัฐบาลจะหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลก็รอบคอบมากพอด้วยการทำมาตรการเหล่านี้ควบคู่ไปด้วย ก่อนสังคมจะตีตราว่ามุ่งเอาใจนายทุนน้ำเมามากกว่าห่วงใยชีวิตประชาชน” นายชูวิทย์ กล่าว