เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเสวนาเรื่อง “ลดทอนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์…เมืองไทยจะไปต่อ หรือพอแค่นี้” โดย ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ดร.ภูมิสุข คณานุรักษ์ ผู้แทนจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่…) พ.ศ… และนายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการองค์กรเครือข่ายงดเหล้า
ดร.ภูมิสุข คณานุรักษ์ กล่าวว่า แผนเรื่องการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของรัฐบาลนั้น เป็นเพียงแผนในอนาคตที่ยังไม่ได้มีการใช้จริง ทั้งนี้ สภาพัฒน์ฯ เป็นผู้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิขและสังคมแห่งชาติ ซึ่งที่ใช้อยู่ตอนนี้คือฉบับที่ 13 (2566-2570) พูดถึงเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยทั้งด้านสุขภาพ ร่างกาย จิตใจ เป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ซึ่งมีการพูดถึงผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นกัน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า แอลกอฮอล์มีผลต่อสุขภาพ สังคม ทั้งอุบัติเหตุและความรุนแรงในครอบครัว ดังนั้น เพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาวะ จึงต้องควบคุมแอลกอฮอล์ เพราะปัจจุบันยังเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมายจึงต้องระวัง ต้องรักษาวินัยของประชาชน รักษากฎหมาย สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี
“ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 แต่ยังไม่สามารถควบคุมจำนวนผู้ดื่มได้เท่าที่ควร เมื่อพิจารณามูลค่าการบริโภคในปี 2563 อยู่ที่ 169,945 ล้านบาท เพิ่มเป็น 185,310 ล้านบาท ในปี 2566 ปริมาณการดื่มโดยเฉลี่ย 8.3 ลิตรต่อปี ซึ่งสูงกว่ากว่าค่าเฉลี่ยขององค์การอนามัยโลกอยู่ที่ 6.4 ลิตร ต่อปี และทำให้มีปัญหาสุขภาพ เป็นภาระด้านสาธารณสุข ข้อมูลปี 2566 พบว่า แม้จะรณรงค์ต่อเนื่อง เช่น เข้าพรรษา แต่คนตระหนักรู้ลดลงถึง 9.5% หรือประมาณ 5 ล้านคน นักดื่มหน้าใหม่อายุ 15-19 ปี 1,200,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 200,000 คนในปี 2565 และเกิดอุบัติเหตุ โดยช่วงสงกรานต์ จากสถิติของกรมควบคุมประพฤติมีคดีเมาแล้วขับ 7,130 คดี คิดเป็น 96.51 % อัตราการเสียชีวิตบนถนนอยู่ที่ 26.5- 27 คนต่อประชากร 100,000 คน ความรุนแรงในครอบครัวปี 2559 จากประมาณพันเคส พุ่งเป็น 2,347 ในปี 2561 ถ้าจะลดทอนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะต้องคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ เพราะประเทศไทยมีกฎหมายอยู่แล้ว แม้มีการรณรงค์อยู่ แต่ยังมีปัญหาทางสังคมอยู่มาก ก็มาจากการดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น การจะไปลดทอนการควบคุมตรงนี้ก็ต้องคำนึงถึงด้วยว่าจะเกิดผลอะไร ถ้าจะไปต่อต้องทำด้วยความระมัดระวัง หรือจะไม่ไปก็ได้ ต้องคำนึงถึงสุขภาพและปัญหาสังคม” ดร.ภูมิสุข กล่าว
ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ กล่าวว่า การพนันและการดื่มสุรา เป็นบาปทั้งคู่ ทั้งนี้เครื่องดื่มแอลกฮอล์กำกับโดยรัฐบาล และเปิดสัมปทาน ทำให้กลุ่มธุรกิจประมูลได้แล้วขยายกิจการควบคุมกลไกทั้งหมด เปลี่ยนการผลิต จากสัมปทาน เป็นการกระจายให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมโดยธุรกิจสุราเล็กๆ เข้ามาอยู่ในสังกัด ปรากฏว่ามีบริษัทยักษ์ใหญ่เจริญขึ้น นี่เป็นกระบวนการที่รัฐไม่ได้ตั้งรับ ต้องถอยร่นแบบไม่เป็นขบวน จะเห็นได้ว่าระบบสัมปทานเป็นระบบที่ทำให้เกิดการทุจริตที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้ การผูกขาด เปิดให้ใช้ดุลพินิจ ลดการตรวจสอบ ดังนั้น สุราจะผูกขาดโดยเอกชนไม่ได้ เพราะถ้าผูกขาดแล้วจะกำหนดกฎเกณฑ์ของการทำนโยบาย ต่างๆเพื่อให้ได้ผลประโยชน์มหาศาล ทั้งนี้หลายประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ตัดปัจจัยเสี่ยงจากแอลกอฮอล์ออกไป โดยทำอย่างต่อเนื่องได้คนคุณภาพ การบังคับใช้กฎหมายจึงมีคุณภาพ แต่ประเทศไทยมีกฎหมายดี แต่การบังคับใช้กฎหมายไม่ดี ก็มีที่มาจากจุดเริ่มต้นในการพัฒนาคนที่ไม่มีคุณภาพเพียงพอ ดังนั้นการทำนโยบายด้านเศรษฐกิจ ต้องคิดให้รอบด้าน อย่าคิดแต่จะเอาเงินเข้ากระเป๋า บางอย่างยังได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะการสร้างอนาคตของชาติไปสู่จุดมุ่งหมายที่เราต้องการเห็น ต้องควบคุมกลไกโดยเฉพาะการโฆษณาประชาสัมพันธ์ต้องเข้มงวด ป้องกันเยาวชนเข้าถึง ไม่ให้อบายมุขไปเกี่ยวข้องกับกีฬา ขอให้คำนึงถึงทายาทของประเทศด้วย
นายธีระ วัชรปราณี กล่าวว่า ขณะนี้มีการแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีอยู่ 5 ร่าง คาดว่าจะเสร็จในเดือนกันยายนนี้ และเข้าสภาเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ทั้งของภาคประชาชน กระทรวงสาธารณสุข พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และภาคธุรกิจ โดย 3 ร่างแรกพยายามทำให้เข้มแข็งขึ้น ส่วนร่างของก้าวไกล และภาคธุรกิจ ค่อนไปทางเสรี ให้โฆษณาได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องพิจารณาคือการทำให้เกิดความสมดุลระหว่างฝ่ายเศรษฐกิจ การเมือง และสุขภาพ ต้องไม่ทำให้ปัญหาที่มีอยู่แย่ลง องค์การอนามัยโลกระบุว่าหากจะลงทุนทางเศรษฐกิจต้องป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือควบคุมบุหรี่ และแอลกอฮอล์ โดยหากลงทุนคุมบุหรี่ 1 ดอลลาร์ ก็จะได้กลับมาถึง 7 ดอลลาร์ และถ้าลงทุนคุมแอลกอฮอล์ 1 ดอลลาร์ก็จะได้กลับมา 8 ดอลล่าร์ ซึ่งกฎหมายที่เราใช้มาตั้งแต่ปี 51 ช่วยลดการดื่มแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ลง ปัญหาเลยลดลง ไม่เช่นนั้นการดื่มในปัจจุบันอาจจะสูงถึง 10 ลิตรต่อคนต่อปี อย่างไรก็ตาม เรื่องการโฆษณา ธุรกิจต้องตรงไปตรงมา ไม่เชื่อมโยงโฆษณาสินค้าอื่นสู่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตอะไรมาก็โฆษณาสิ่งนั้น อีกทั้งการรับผิดชอบต่อสังคมควรไปดูแลคนที่ได้รับผลกระทบ ครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้พิการ มากกว่าการทำซีเอสอาร์ปลอมๆ
ด้าน นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีคนดื่มหนัก ทำลายสุขภาพ ประมาณ 1.4 ล้านคน โดยมี 300,000 คนติดสุราจนทำงานไม่ได้ เหลืออีก 1,200,000 ล้านคน กำลังก้าวไปสู่ระดับนี้เพราะดื่มมากกว่าวันละ 2 หน่วยบริโภค ส่วนค่าใช้จ่ายเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ย1,600 บาท ต่อคนต่อเดือน แต่ถ้าเป็นคนมีรายได้น้อยจะใช้ประมาณ 3,000 บาท คิดเป็น 15% ของรายได้ของเขา จะเห็นได้ว่า สุราลดทอนคุณภาพเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ต้องส่งเสียงส่งสัญญาณไปให้ฝ่ายกำหนดนโยบายทราบ ส่วนกลุ่มคนรุ่นใหม่หลายประเทศส่งสัญญาณว่าไม่อยากดื่ม เพราะทำลายสุขภาพ และทำให้ตัวเขาถูกเอาเปรียบ ดังนั้น ก็อยากให้คนรุ่นใหม่ของไทยปฏิเสธการดื่มเช่นกัน หากยังไม่ดื่ม ก็ไม่ต้องไปดื่ม หากดื่มอยู่ก็ลดลงไม่เกิน 2 ดื่มมาตรฐาน
“คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มเฉลี่ย 7 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งเยอะเกินไป คำถามคือรัฐบาลมีเป้าหมายหรือไม่ที่จะลดตรงนี้ แผนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บอกว่าจะลดปีละ 5% และปี 70 จะเอาลงมาให้เหลือประมาณ 5.2 ลิตรต่อคนต่อปี ถ้าทำได้แบบนั้นจะเพิ่มผลิตภาพในระบบเศรษฐกิจอย่างแน่นอน” นพ.คำนวณ กล่าว
นพ.คำนวณ กล่าวต่อว่า และอีกประเด็นที่ตนอยากสื่อถึงนักการเมือง พรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งตนเข้าใจว่าต้องการเอาคะแนนเสียง เป็นหัวใจ เวลามีธุรกิจไปเสนอนายก บอกว่ายกเลิกการจำกัดเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็รับและสั่งให้ไปดู ตนเข้าใจว่า เพื่อต้องการทำให้เห็นว่า รัฐพยายามสนับสนุนทุกฝ่าย แต่สิ่งหนึ่งที่นักการเมืองต้องมีคือ สำนึกของศีลธรรม สำนึกของความถูกต้องเพราะจากการประเมิน 5 พื้นที่นำร่องเปิดผับบาร์ตี 4 นั้น พบคนเสียชีวิตช่วงตี 2 ถึง 6 โมงเช้า เพิ่มขึ้น 13 -25% หรือมีคนตายจากนโยบายนี้ 20-40 คน แต่ตัวเลขเหล่านี้ไม่ไปถึงนักการเมือง ดังนั้น ต้องช่วยกันส่งเสียงว่าเราไม่ต้องการนโยบายนี้เพราะ เป็นนโยบายที่ไม่ยุติธรรม รายได้ไปสู่เจ้าของธุรกิจแต่คนที่แบกรับปัญหาคือประชาชน