เด็กมช. คว้ารองแชมป์เวที Research to Market (R2M) ระดับประเทศด้วยนวัตกรรมโครงข่ายดูดซับสารคาร์บอน

ทีม Phoenix จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สร้างความภาคภูมิใจคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท จากการแข่งขัน “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์” (Research to Market: R2M#12 Thailand) ด้วยผลงานนวัตกรรม Metal Organic Frameworks (MOFs) วัสดุโครงข่ายดูดซับสารคาร์บอนช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

การแข่งขันครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม “Ignite Campfire จุดไฟแห่งแรงบันดาลใจ สร้างสายสัมพันธ์ อันอบอุ่น” เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัดนครราชสีมา โดยความร่วมมือระหว่างกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 (จ.นครราชสีมา) ในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปีนี้

ความสำเร็จครั้งนี้ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในครั้งนี้ คือการได้รับคัดเลือกเข้าไปแข่งขันในรอบระดับประเทศ ถึง 2 ทีม ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้น จาก 22 ทีม 16 สถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วประเทศ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ในฐานะเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ (RSP North) ได้ส่งทีมตัวแทนนักศึกษาจาก มช. เข้าร่วมการแข่งขัน นำโดยทีม Phoenix กับผลงานวิจัยที่มีชื่อว่า ผลิตภัณฑ์ Metal Organic Frameworks (MOFs) วัสดุโครงข่ายดูดซับสารคาร์บอนมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาต่อยอดมาจากงานวิจัยของ ผศ.ดร.ศรัญพงศ์ ยิ้มกลั่น คณะวิทยาศาสตร์ มช. และต่อเนื่องมาด้วยทีม MedTBac Strip Test ผลงานวิจัยการตรวจเชื้อวัณโรคซึ่งสามารถตรวจแยกระหว่างเชื้อวัณโรค MTB (Mycobacterium tuberculosis) กับ เชื้อที่แสดงอาการคล้ายวัณโรค NTM (Non-Tuberculosis mycobacteria) จากการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยของ ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ)

ดร.วัชระ กสิณฤกษ์ คณะเทคนิคการแพทย์ มช. ซึ่งทั้งสองทีมดังกล่าว ยังได้รับการสนับสนุนภายใต้ “builds CMU” โปรแกรมการสร้างสตาร์ทอัพและความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษามช. และโครงการ “การเรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อเร่งการเป็นผู้ประกอบการจากสถาบันอุดมศึกษาร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรระหว่างประเทศ” (Experiential Learning Program: ELP) โดยมี ผู้เชี่ยวชาญจาก STeP ที่เปรียบเสมือนเป็นที่ปรึกษา ดูแล โค้ชชิ่ง และให้คำแนะนำทุกอย่างก้าวการแข่งขัน ร่วมด้วย อาจารย์ ดร.รอม แพสุวรรณ ผู้จัดการโครงการอุทยานฯ ที่มีส่วนช่วยผลักดันน้องๆนักศึกษาในการเตรียมความพร้อมทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการนำเสนอแผนธุรกิจ จนสามารถคว้ารางวัลสำคัญมาครองในที่สุด

ด้าน อาจารย์ ดร.รอม แพสุวรรณ ผู้จัดการโครงการอุทยานฯ กล่าวเสริมว่า STeP ยังมีบทบาทสำคัญในการประสานงานกับอาจารย์เจ้าของงานวิจัย เพื่อให้นักศึกษาได้นำมาพัฒนาเป็นแผนธุรกิจ ด้วยกลไกการสนับสนุนของ builds CMU ที่แม้นักศึกษาปริญญาตรีบางคนอาจยังไม่มีงานวิจัยของตัวเองนั้น แต่ด้วยใจรักในการทำธุรกิจก็สามารถประสบความสำเร็จได้ นอกจากนี้ยังมี Basecamp24 เป็นกำลังสำคัญในการรับช่วงต่อจาก builds CMU โดยกระบวนการ Spin-off ธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าใกล้ถึงแหล่งทุนและยังสามารถรองรับการเติบโตของธุรกิจสู่การ ‘สเกลอัพ’ (Scaleup) หรือการขยายผลธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขีดสามารถเพื่อแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้นได้อีกด้วย

ทั้งนี้ สำหรับน้องๆ เหล่านักฝันใหญ่ไฟแรงที่อยากเป็น Startup สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว Basecamp24 และ builds ได้ที่ Facebook Fanpage: Basecamp24 และ builds – CMU Startup & Entrepreneurial Program หรือเดินทางไปยังสถานที่จริงเพื่อพูดคุย รับคำปรึกษา และเข้าร่วมโครงการต่างๆ ได้โดยตรง ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) และ builds ชั้น 2 อาคารศูนย์สุขภาพ มช.

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *