พลอากาศเอก ประจิน ประจั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2562 ว่าเป็นเวทีระดับชาติที่รวบรวมผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญจากทุกหน่วยงานในระบบวิจัยของประเทศ โดยเฉพาะผลงานที่สามารถใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหา ของประเทศ สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อนำไปสู่ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งรัฐบาลได้มุ่งเน้นความสำคัญของการวิจัยและนวัตกรรม ผ่านแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 23 แผนแม่บท สำหรับแผนแม่บทประเด็นที่ 23 ประเด็น การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศเพิ่มสูงขึ้น เป็นประเทศชั้นนำ ของโลก สัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนต่อภาครัฐเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าแผนแม่บทประเด็น การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อการพัฒนาต่อยอดและการสร้างสรรค์นวัตกรรมในด้านต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ
ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศครั้งใหญ่ บูรณาการให้ตรงกับ ความต้องการและเป็นไปในในทิศทางเดียวกัน โดยการจัดตั้ง “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ขึ้น โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบแล้ว การจัดตั้งกระทรวงใหม่ในครั้งนี้ มีการรวม 4 หน่วยงาน เข้าด้วยกัน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อปฏิรูป 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ การปฏิรูปการบริหารราชการ การปฏิรูปกฏระเบียบต่าง ๆ และการปฏิรูประบบงบประมาณ โดยเน้นการทำงานกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ในการนี้ได้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งตนเป็นประธาน เพื่อเตรียมความพร้อมและขับเคลื่อนให้กระทรวงใหม่นี้สามารถทำงานได้ทันทีเมื่อกฏหมายมีผลใช้บังคับ
สำหรับ วช. ได้ปรับเปลี่ยนเป็น “สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ” เป็นหน่วยงานหลักในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ตั้งแต่การวิจัยจนถึงการนำไปใช้ประโยชน์ การจัดทำฐานข้อมูลและดัชนีด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การริเริ่ม ขับเคลื่อนและประสานการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ การจัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย การส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร ด้านการวิจัยและนวัตกรรม และการให้รางวัลประกาศเกียรติคุณ หรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัย และนวัตกรรม ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญมากทั้ง 7 ด้าน โดยขณะนี้ วช. ได้เตรียมพร้อมในการรับถ่ายโอนงาน กับหน่วยงานต่าง ๆ และปรับรูปแบบการทำงานให้พร้อมแล้ว
ในการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรม รัฐบาลมีเจตนาเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรม ให้สามารถนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่เดิม และที่เกิดขึ้นใหม่ไปใช้ในเชิงวิชาการ เชิงพาณิชย์ เชิงสังคม และเชิงนโยบายให้เป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุด ต่อการพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนและขยายบทบาทหน้าที่ใหม่ดังกล่าว วช. ได้เตรียมความพร้อมไว้เรียบร้อยแล้วให้สามารถ ดำเนินการได้ทันที รวมทั้งจะยึดหลักทำงาน ด้วยหลัก “วช. 5G” โดยเป็นส่วนราชการที่มีประสิทธิภาพสูง รวดเร็ว คล่องตัว เชื่อมโยงนโยบายสู่การปฏิบัติได้ทันที พร้อมขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ รองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลกอย่างรวดเร็ว