จังหวัดเพชรบูรณ์ เดินหน้าผลักดันตลาด OTOP ปี 62 สู่ชุมชนเมืองสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่ม OTOP รายสาขา ยกระดับขีดความสามารถแข่งขันของชาวเกษตรกรอุตสาหกรรมบริการและการค้าการลงทุนจัดทัพสินค้าดาวเด่นผู้ผลิตผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ OTOP จำนวน 50 กลุ่ม บุกใจกลางกรุงเปิดงานมหกรรม OTOP เที่ยวเพชรบูรณ์ สนุก x 2 ไปแล้วจะรู้… อยู่แล้วจะรัก… ” 5 วัน เป็นการเปิดตลาดสินค้าOTOP และการท่องเที่ยวของเพชรบูรณ์สู่ชาวกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง พบกับบรรยากาศเที่ยวเพชรบูรณ์สนุก x 2 สนุกสุดมันส์ ผลิตภัณฑ์ชุมชน ณ ฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต 26 ถึง 30 เมษายน คาดมีผู้เข้าจับจ่ายซื้อของวัน 8, 000-10, 000 คน จากยอดผู้เข้าห้างวันละ 157, 000 คน ดันสินค้าโอทอปกลุ่มที่ผลักดันตลาดสินค้า OTOP รวมทะยานสูง 2 แสนล้านบาท ตามนโยบายกรมพัฒนาชุมชน
นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นเมืองมีของดีหลายอย่างและเป็นเมืองท่องเที่ยว มาถึงเพชรบูรณ์ต้อง 678 หมายถึง 6 อย่างต้องกิน 7 อย่างต้องซื้อ 8 อย่างที่ต้องไปเที่ยวและเตรียมจัดมหกรรมสินค้า OTOP เพื่อให้ชาวกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงได้รับทราบ เพิ่มช่องทางการตลาดของผู้ประกอบการและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด
ด้านนายประดิษฐ์ หลวงจอก พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวให้รายละเอียดการจัดงานว่า จากนโยบายเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ สร้างความสามารถในการแข่งขัน ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของชาวเกษตรอุตสาหกรรม บริการ และการค้าการลงทุน โดยให้ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดพัฒนากระบวนการผลิตการบริหารจัดการ การตลาดสินค้า การบริหารจัดการ การตลาดสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชนนั้นตามแผนพัฒนาจังหวัดเพชรบูรณ์ (พ.ศ.2561-2564) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ “พัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน และส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความพร้อมต่อ AEC” ตอบสนองนโยบายรัฐบาล ในการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP)ในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนและยกระดับผลิตภัณฑ์OTOP ให้เพิ่มมูลค่ามากขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ดังนั้นในปี 2562 ได้เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน(OTOP)สู่ตลาดใหม่ ๆ ให้กับผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ ผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มท่องเที่ยว จำนวน 50 กลุ่ม เข้าร่วมกิจกรรมจังหวัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามโครงการ 1 ครั้ง ระยะเวลา 5 วัน โดยบุกใจกลางเมืองเป็นงาน “มหกรรม OTOPเพชรบูรณ์เที่ยวเพชรบูรณ์ สนุกx2ไปแล้วจะรู้…อยู่แล้วจะรัก…” 5วัน โดยพบกับบรรยากาศ เที่ยวเพชรบูรณ์ สนุกx2 สนุกสุดมัน ผลิตภัณฑ์ชุมชน ระหว่างวันที่ 26-30 เมษายน 2562 ณ ฟิวเจอร์ ปาร์ค รังสิต ลานสินค้า อไลฟ์ ฮอล์ล ชั้น G คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานและมาจับจ่ายต่อวัน 8,000-10,000 บาท จากยอดผู้เข้าห้างสรรพสินค้าวันละ 157,000 คนเพื่อดันสินค้าโอท็อปเพชรบูรณ์ ที่เป็นอีกกลุ่มที่ผลักดันตลาดสินค้าโอท็อปรวม ทะยานสู่ 2 แสนล้านบาท ตามนโยบายกรมพัฒนาชุมชน
“พช.มีการผลักดันเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อให้สินค้าOTOP มีคุณภาพ มีความยั่งยืน และส่งเสริมพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ เช่น กล้วยฉาบไส้มะขาม ซึ่งมะขามจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นที่เดียวที่ปลูกแล้วขายได้ในระดับโลก เนื่องจากที่มีดิน อุณหภูมิ อากาศ พอเหมาะ จึงได้ผลดี ฝักออกตอนฝนไม่ตกจึงไม่เป็นเชื้อรา”
คุณ ธีรพร พรพฤฒิพันธุ์ ประธานเครือข่ายโอท็อป จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่นำมาจำหน่ายมีทั้งอาหาร มะขาม กาแฟ แมคคาเดเมีย ไก่ย่างวิเชียรบุรี ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ ผ้าเขียนเทียน ผ้าปัก ผ้าลายมุก เครื่องประดับ เซรามิค และนำเสนอการท่องเที่ยว แนะนำเขาค้อ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ที่กำลังเสนอเพื่อเป็นมรดกโลก
ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้กล่าวถึง ยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบูรณ์ว่า เดิมมีนักท่องเที่ยวไทยมากถึง 90% กำลังจะดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ซึ่งการจะเดินสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ต้องทำให้เป็นระดับโลก ทำให้นักท่องเที่ยวมาได้ทั้งปีจากปัจจุบันมาได้เพียง 4 เดือน ช่วงฤดูหนาว ฤดูฝน ในช่วงฤดูร้อนจะต้องทำอย่างไรเพื่อดึงนักท่องเที่ยวมา
ที่ผ่านมาทางจังหวัดและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเสนอองค์การสหประชาชาติ (UN)เพื่อให้เป็นมรดกโลก ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์ ศรีเทพ ที่ได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว และมีคณะกรรมการที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานเพื่อพิจารณาแล้ว ซึ่งได้ในระดับชาติแล้ว ในขั้นต่อไปจะเสนอยูเอ็นเพื่อเป็นระดับโลก
ทางด้านอุทยานธรณีวิทยา รอการมาตรวจ โดยกำลังเสนอคณะกรรมการที่มีพล.อ.ประวิตร เป็นประธานเหมือนกันพิจารณา เพื่อดันให้เป็นมรดกโลก ซึ่งเสนอไป 14 แห่ง แต่ถูกท้วงติงเรื่องไกลและมีอยู่ทุกอำเภอ จึงขอให้เหลือเพียง 2 แห่งได้แก่ น้ำหนาวและหล่มสัก เพื่อเป็นอุทยานธรณีวิทยา
“เมื่ออุทยานธรณีวิทยานี้ไปอยู่ในกูเกิล ไปอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกของยูเอ็นแล้ว นักท่องเที่ยวก็จะมา”
นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ยังชูจุดแข็งของเพชรบูรณ์ในเรื่องของอากาศที่ดี การมีแหล่งธรรมชาติที่เกิดขึ้น และมีแหล่งวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากการสร้าง เช่น พระบาทซ่อนแก้ว และต่อไปจะมีสร้างแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มเพื่อดึงดูดคนมาพักไม่ใช่แวะมาแล้วผ่านไป เช่น สร้างพุทธมณฑลที่เป็นเจดีย์รูปพระธรรมจักร ซึ่งจะเป็นหอชมเมือง เป็นสกายวอล์ค เพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวในตัวเมืองเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกันยังมีการจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อดึงนักท่องเที่ยว โดยล่าสุดร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดอีเวนต์ที่สำคัญ เป็นกีฬาผู้สูงอายุ ซึ่งเพชรบูรณ์มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว สถานที่พักต่าง ๆ พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว ผู้สูงวัย
อีกทั้งยังมีความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานราชการและเอกชน ช่วยพัฒนาจังหวัดให้เป็นที่รู้จักทั้งแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวที่สร้างขึ้นมา รวมทั้งสินค้า ของกินให้เพิ่มมากขึ้น ผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ที่มีส่วนสำคัญช่วยด้านท่องเที่ยวและส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วย
ทั้งนี้ได้ตั้งเป้ามีนักท่องเที่ยวมาเพชรบูรณ์เพิ่ม 5-10% ต่อเนื่องทุกปี ปัจจุบันมีมากกว่า 2 ล้านคนต่อปี ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 2.5ล้านคนในปีนี้ ขณะที่ยอดขายสินค้า OTOP รวมของจังหวัดอยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อปี