มวล. จับมือ วช. จัดเทศกาลกินปู ดูพระจันทร์@เกาะพะงัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อำเภอเกาะพะงัน สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด19
ผศ.ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการธนาคารปูม้า มวล.-วช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7-9 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ได้เดินหน้าต่อยอดธนาคารปูม้าสู่การท่องเที่ยวชุมชน โดยได้จัดเทศกาลกินปู ดูพระจันทร์@เกาะพะงัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนาเติบโตของพื้นที่ทางด้านเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตโควิด19 และรวมทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมธนาคารปูม้าให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยได้รับเกียรติจาก น.ส.สุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการขยายผลธนาคารปูม้าเป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยมี ผู้ทรงคุณวุฒินักวิจัยจาก ผู้นำชุมชน และสมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการธนาคารปูม้า จากจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตลอดจนพี่น้องประชาชน เยาวชน นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ได้เข้าร่วมกิจกรรม และสนใจในการอนุรักษ์ปล่อยปูม้าคืนสู่ทะเล และพร้อมที่จะเดินทางท่องเที่ยวควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล
โอกาสเดียวกันนี้ได้รับเกียรติ จาก ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งลงพื้นที่ อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎ์ธานี เพื่อตรวจท่าเรือท่องเที่ยว ณ บริเวณท่าเทียบเรือเกาะสมุยและเกาะพะงัน ได้ร่วมกิจกรรมปล่อยลูกปูม้าคืนสู่ทะเล พร้อมขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันจัดกิจกรรมดีๆให้กับนักท่องเที่ยว อีกทั้งการอนุรักษ์ปูม้า ถือเป็นการช่วยฟื้นฟูสัตว์ทะเลและระบบนิเวศ
ผศ.ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี กล่าวว่า โครงการธนาคารปูม้า ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน พบว่าผลจับปูม้าของชาวประมงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จากเดิม เฉลี่ยวันละประมาณ 5 กิโลกรัม เพิ่มเป็น 8-10 กิโลกรัมต่อวัน จึงเห็นได้ชัดว่าการทำธนาคารปูม้า ควบคู่กับการดูแลรักษาระบบนิเวศชายฝั่ง สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมและจับต้องได้
นอกจากส่งเสริมการทำธนาคารปูม้าแล้ว มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ขยายผลส่งเสริมให้ชุมชน สร้างกิจกรรมเชื่อมโยงเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องกับวิถีอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น เช่น การส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงวิถีประมงแบบสร้างสรรค์ การพัฒนาเมนูอาหารปูม้าอัตลักษณ์ท้องถิ่น การส่งสริมช่องทางการขายแบบออนไลน์ ตอบโจทย์ช่องทางการตลาดโดยเฉพาะช่วงของโรคระบาดโควิด
กิจกรรมภายในงานเทศกาลกินปู ดูพระจันทร์ มีการจัดซุ้มนิทรรศการให้สามารถเรียนรู้แนวทางการดำเนินการธนาคารปูม้า กิจกรรมเสวนา กิจกรรมปล่อยปูม้า เมนูอัตลักษณ์ปูม้า การจำหน่ายสินค้าแปรรูปอาหารทะเล สินค้าท้องถิ่น การแข่งขันเกาะปูม้า รวมทั้งการแสดงดนตรีเพื่อสร้างสีสันให้กับงานเทศกาลกินปูดูพระจันทร์ตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งมีกิจกรรมเชื่อมโยงกับจุดขายที่เชื่อมโยงกับคำว่าพระจันทร์ เช่น Full moon และ Half moon