เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม นายสมบัติ วรสินวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตบางเขน กล่าวถึงการจัดการขยะในครัวเรือนช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ว่า ในการคัดแยกขยะครัวเรือนนั้นหากเป็นกรณีที่เรารู้ หรือได้รับการแจ้งว่า ครอบครัวไหนที่ติดเชื้อ มีผู้ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน จะมีเจ้าหน้าที่นำถุงแดงไปให้ พร้อมกับให้คำแนะนำแยกขยะติดเชื้อใส่ไว้ในถุงสีแดง อาทิ หน้ากากอนามัย ถุงมือ เป็นต้น จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่เฉพาะที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการเก็บขยะเหล่านั้น พร้อมกับการป้องกันตัวขั้นสูงสุด โดยสวมชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ถุงมือสเปรย์แอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อ จากนั้นนำขยะติดเชื้อมาที่จุดที่จัดบริการเฉพาะคือศูนย์สุขภาพชุมชน และมีบริษัทกรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นบริษัทรับ กำจัดขยะติดเชื้อมารับไปทำลายตามระบบต่อไป ดังนั้นการแจ้งข้อมูลกับทางเขตจึงมีความสำคัญมากทั้งบ้านที่มีผู้ติดเชื้อ และบ้านที่กักตัวเพราะจะนำมาซึ่งวิธีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อความปลอดภัยสูงสุด
“การเก็บขยะชุมชนในจุดที่ไม่ทราบว่าในพื้นที่นั้น มีคนติดเชื้ออยู่หรือไม่ หลักปฏิบัติคือมีข้อสั่งการให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะทุกคนสวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ มีสเปรย์แอลกอฮอล์สำหรับฉีดฆ่าเชื้ออยู่ตลอดเวลา เมื่อเก็บขยะตามบ้านมาแล้วจะไม่มีการคัดแยก เก็บมาแบบไหนก็นำทิ้งไปแบบนั้นเลย เพื่อลดการสัมผัสขยะที่อาจจะมีการปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ มาด้วย ทั้งนี้ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนคัดแยกขยะ โดยเฉพาะขยะติดเชื้อแยกจากขยะทั่วไปเพื่อเป็นการป้องกันผู้สัมผัสขยะ รวมถึงมีถังขยะสีแดง เพื่อเป็นจุดให้ประชาชนนำขยะติดเชื้อมาทิ้ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาประชาชนอาจจะเคยชินจึงไม่ได้คัดแยก จึงอยากขอวิงวอนให้ช่วยกันทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วลงในถุงซิปหรือมัดปากถุงให้แน่น แล้วแยกทิ้งในถังขยะติดเชื้อเพื่อกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ การระบาดของโควิด 19 จนถึงปัจจุบันยังไม่พบพนักงานติดเชื้อโควิคจากการสัมผัสขยะตามบ้าน เพราะเราเข้มงวดระมัดระวัง” ผู้อำนวยการสำนักงานเขตบางเขน กล่าว
ด้าน นางเสาวลักษณ์ ผงทอง หัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ กล่าวว่า การทำความสะอาดจะแบ่งออกเป็นหลายส่วน ทั้งพื้นผิวสะพานลอย ป้ายรถเมล์ ต้องสวมเครื่องป้องกันตัวทั้งหน้ากากอนามัยถุงมือและชุดคลุมสีขาวคล้ายๆกับ PPE คอยเช็ด ทำความสะอาดโดยใช้แอลกอฮอล์ผสมน้ำ ส่วนการทำความสะอาดผิวถนนจะใช้ไฮเตอร์ผสมน้ำ ฉีดพ่นสลับกับการล้างถนนทุกวัน ขณะที่งานเก็บขยะตามบ้าน แบ่งออกเป็นการเก็บขยะติดเชื้อ หากทราบจะมีการนำถุงสีแดงหรือสีส้มไปให้คัดแยกและนัดหมายเก็บขยะทุกวัน โดยผู้เก็บขยะจะมีการสวมเครื่องป้องกันตัวอย่างเต็มที่ นำขยะไปทิ้ง ที่ศูนย์สุขภาพชุมชนที่ 25 มีบริษัทกรุงเทพธนาคมมารับไปกำจัดต่อไป ส่วนขยะทั่วไปใส่ถุงดำเก็บตามรอบ ทั้งนี้หลังการปฏิบัติงาน จะมีการใช้เดทตอลผสมน้ำล้างทำความสะอาดรถเก็บขยะถังขยะ ส่วนเจ้าหน้าที่จะต้องทำความสะอาดร่างกายให้เรียบร้อยก่อนจะปฏิบัติงานอื่นต่อไป
“ที่ผ่านมาเราได้รับความร่วมมืออย่างดีทั้งจากประชาชนและเจ้าหน้าที่ ถือว่ามีขวัญกำลังใจดี จากเดิมที่ค่อนข้างจะกังวล แต่หลังจากมีการเข้มงวดเรื่องมาตรการทางสาธารณสุขไม่มีเจ้าหน้าที่ของเราติดเชื้อจากการปฏิบัติงานเลย ทำให้ทุกคนเชื่อมั่น มีกำลังใจที่ดีขึ้น ผู้บริหารก็ให้การดูแลเป็นอย่างดี รับฟังปัญหาและให้การช่วยเหลือ ผู้ปฏิบัติงานที่มีอาการไข้มีน้ำมูก ก็ให้รายงานผู้บังคับบัญชา และจะให้หยุดงาน สังเกตอาการและตรวจหาเชื้อฯ ซึ่งก็ไม่พบ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้พวกเรามีขวัญกำลังใจที่ดี เจลแอลกอฮอล์ที่อยากได้เพิ่มทาง ผอ.เขตก็รับปากที่จะดูแลเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ขอความร่วมมือประชาชนช่วยดูแลความสะอาดที่บ้านและบริเวณรอบบ้านตัวเองด้วย แต่หากมีกรณีฉุกเฉินสามารถโทรแจ้งได้ เราพร้อมปฏิบัติหน้าที่ทุกเวลาเหมือนเดิม” นางเสาวลักษณ์ กล่าว
ด้านนางสาวเครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต กล่าวว่า คนกลุ่มหนึ่งที่ทำงานหนักมาก แต่มีคนพูดถึงน้อยคือ คนเก็บขยะ คนกวาดถนน ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับประชาชนทุกตอกซอกซอย มีความเสี่ยงสูง รวมถึงเสี่ยงจากผู้ขับขี่บนท้องถนน เรียกได้ว่าเป็นด่านหน้าเช่นเดียวกัน เครือข่ายฯอยากขอให้ประชาชนช่วยกันทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วแยกส่วนกับขยะทั่วไป และให้ประชาชนที่พอมีกำลังช่วยกันมอบเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ หรือแม้กระทั่งหน้ากากอนามัย ให้กับพนักงานกวาดถนนหรือพนักงานเก็บขยะที่ท่านพบเจอ เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ “พบที่ไหนให้ที่นั่น” เพราะลำพังให้ กทม.จัดหาเพียงทางเดียวอาจจะไม่เพียงพอในสถานการณ์นี้ และเราขอให้กำลังใจพนักงาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดทั้งพนักงานเก็บขยะ พนักงานกวดถนนทุกคนที่ต้องทำงานหนัก ท่ามกลางความเสี่ยงที่เลี่ยงไม่ได้ในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้