โอกาสที่ดีในการพัฒนาตนเองนั้น สามารถหามาเพิ่มเติมได้ในหลากหลายวิธี นอกจากการเรียนรู้ผ่านการอบรม การฟังบรรยาย หรือตำราเรียน อีกหนึ่งวิธีในการพาตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับประสบการณ์ชีวิตของผู้อื่น และได้ใช้ทักษะที่เรามีนั้น นำพาให้เขามีช่วงเวลาที่ดีและมีความสุขไปพร้อมกับเรา นั่นคือการเป็นอาสาสมัครในโครงการต่างๆ Mr. Saw Aung Htun นักศึกษาจากหลักสูตรนานาชาติ เขาเป็นอีกหนึ่งคนต้นแบบที่น่าชื่นชม
Mr. Saw Aung Htun (Saw) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ผมเริ่มเป็นอาสาสมัครตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และเมื่อมาที่ประเทศไทยในปี 2565 ก็ได้สมัครเข้าร่วมกับองค์กรที่เปิดรับอาสาสมัครที่นี่ด้วยครับ
“ผมจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจาก CAE Private High School หนึ่งในโรงเรียนชั้นนำในที่พม่า หลังจากนั้นก็เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์มัณฑะเลย์ ตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2564 เนื่องจากความขัดแย้งในประเทศของผม จึงทำให้ผมเลือกมาเรียนต่อที่ประเทศไทย ผมลงเรียนค่อนข้างหนักครับ ทำให้มีโปรเจกต์และต้องโฟกัสเรื่องเรียนเป็นอันดับแรกๆ ครับ แต่ไม่ว่าจะมีเวลาน้อยแค่ไหนก็ตาม ผมก็ยังหาเวลาในการเสิชหาข้อมูลงานด้านอาสาสมัครอยู่เรื่อยๆ ครับ โดยงานล่าสุดที่ผมสมัครเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นช่วงเวลาปิดเทอมฤดูร้อน ผมลงพื้นที่ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งใจจะไปเที่ยวและเก็บเกี่ยวประสบการณ์เท่าที่จะหาได้ครับ เพื่อนผมได้แนะนำงานอาสาสมัครด้านการสอนหนังสือที่ Dana Education ครับ ไม่ลังเลเลยครับที่จะเข้าไปช่วย ทำงานทุกวันตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ ช่วงหกโมงเย็นถึงสามทุ่มครับ และไม่นานต่อจากนั้นก็มีค่ายแห่งหนึ่งต้องการอาสาสมัครที่สามารถช่วยเหลือด้านการแพทย์ได้ เป็นการประกาศรับอาสาสมัครที่ด่วนมากครับ ผมก็ไม่ลังเลที่จะตอบรับการเข้าร่วมในทันที องค์กรเนรเทศองค์กรหนึ่ง ได้สอบถามเข้ามาให้ผมเป็นพี่เลี้ยงฝึกอบรมบุคลากรที่ยังขาดความรู้ด้านสุขภาพ ที่นี่เป็นสถานที่สำคัญของชุมชนแห่งหนึ่ง ผมคิดว่าถ้าเราปฏิเสธไปอาจจะน่าเสียดาย เพราะเขาต้องการคนที่สามารถช่วยได้จริงๆ นี่จึงทำให้ช่วงระยะเวลาปิดเทอมภาคฤดูร้อนของผมอัดแน่นไปด้วยประสบการณ์ ชุมชนทั้งหมดนี้ ไม่ได้เปิดรับอาสาสมัครทั่วไป นี่จึงนับเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ครับ หากถามว่าตั้งแต่เป็นอาสาสมัครมานั้น ผมชอบและสนุกกับงานไหนมากที่สุด จริงๆ ทุกงานล้วนมีคุณค่าครับ ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครครูในโรงเรียนธรรมะในหมู่บ้านเล็กๆ ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ที่บ้านเกิดของผมเอง หรืองานครูอาสาสมัครที่ Yay Mal Training ซึ่งสอนศิลปะวรรณกรรมให้กับเด็กๆ ที่ทำช่วงสถานการณ์โควิดก็ด้วยครับ นอกจากนี้ ยังเคยเป็นหัวหน้าทีมสนับสนุนการศึกษาที่ Students Without Frontiers อาสาสมัครผู้ช่วยด้านการดูแลสุขภาพกายและจิตใจ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประสบการณ์ เป็นบทเรียนอันมีค่าที่หาไม่ได้จากในตำราเรียน”
ผมไม่ได้มีต้นทุนที่ดีกว่าใคร สิ่งที่ผมมีอาจจะเป็นเพียงความเชื่อมั่นและความตั้งใจ พ่อแม่ของผมไม่ใช่คนที่มีการศึกษาสูงมากนัก แต่พวกเขาสนับสนุนการศึกษาของผมอย่างเต็มที่ที่สุด และมองว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ
“แม้จะไม่ได้พูดคุยกันเป็นเรื่องเป็นราว แต่ผมรับรู้ได้ว่าสิ่งที่ผมทำ การเป็นอาสาสมัคร การได้ช่วยเหลือเด็กๆ ก็เป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของพ่อแม่ผม เมื่อเราได้หยิบยื่นเจตนาที่ดีออกไป และเราได้เห็นผู้รับมีความสุข เราก็จะมีความสุขเช่นกันครับ นอกจากนี้ ผมยังได้เรียนรู้ที่จะรู้จักผู้อื่น ได้เรียนรู้สถานการณ์ และได้ใช้ทักษะการแก้ปัญหา ใช้ความรู้ที่มีในการช่วยเหลือผู้อื่น ประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัย ได้สร้างและกระตุ้นให้ตัวผมเองได้มีความคิดใหม่ๆ แรงบันดาลใจใหม่ๆ เกิดขึ้น ผมได้นำความรู้ทางด้านการแพทย์ และด้านสุขภาพไปประยุกต์ใช้มากมาย ยกตัวอย่างเช่น การนำความรู้ด้านไอทีมาสร้าง CV การฝึกใช้ Google Sites ต่างๆ เป็นต้น ผมก็นำไปเผยแพร่ ไปประยุกต์ใช้ต่อ ผมเองได้รับความเอ็นดู ความเมตตาจากคณาจารย์ทุกท่าน ความรู้สึกเหล่านี้ผมได้ส่งต่อไปกับงานอาสาสมัครของผมด้วยนะครับ นักเรียนตัวน้อยของผมอยู่ในช่วงอายุ 7 – 10 ขวบ พวกเขามักจะส่งเสียงดังและเรียกร้องความสนใจในระหว่างการเรียนการสอน แรกๆ ผมรู้สึกรับมือยังไม่ได้ครับ สอนต่อไม่ได้ แต่ไม่นานก็ปรับตัวให้ใกล้ชิดกับพวกเขาได้ พวกเขาก็เปิดรับและฟังเสียงผมมากขึ้น ผมเปลี่ยนจากที่วางมาดเป็นผู้สอน มาเป็นดูแล และพูดคุยกับพวกเขา แม้ว่าในวันนั้นผมจะสอนคำศัพท์ภาษาอังกฤษได้เพียงห้าคำก็ตาม อีกทั้งบรรยากาศในห้องเรียนจากที่วุ่นวายก็สมูธและมีความสนุกสนานขึ้นมาครับ ในอีกงานหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมเป็นคนโต ไม่ใช่เด็กนักเรียน งานนี้ผมเป็นอาสาสมัครในฐานะวิทยากรครับ จะต้องบรรยายหัวข้อที่ค่อนข้างยาก ไม่ได้ยากเรื่องเนื้อหาหรือการสื่อสารนะครับ ผมมองว่ามันยากที่จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกสนุกและได้ความรู้ เพราะพวกเขาก็เป็นคนที่เป็นมืออาชีพในสายงานด้านการแพทย์ เคล็ดลับและเนื้อหาที่ผมใช้นั้นจึงต้องไม่ใช่ความรู้ ไม่ใช่เนื้อหาที่พวกเขารู้อยู่แล้ว แต่ต้องหาเคล็ดลับอื่นๆ บวกกับเรื่องราว สตอรี่ผสมเข้าไปให้ฟังดูน่าสนใจ สมเหตุสมผล ผมขอเล่าตัวอย่างหนึ่งที่ค่ายอาสาสมัคร มีชายคนหนึ่งตาบอดและสูญเสียขาข้างซ้ายไป เขาจึงเก็บตัวและปิดตัวเองเป็นอย่างมาก ผมได้รับให้เป็นผู้ดูแลเขา เขาบอกว่ามีปัญหาด้านการนอนหลับ ผมก็พยายามสังเกต และศึกษา จึงรู้ว่าเกิดจากการที่ร่างกายขาดการผลิตเมลาโทนินซึ่งเป็นปัญหาทั่วไปสำหรับผู้ที่ตาบอด จึงได้แนะนำให้เขากินเมลาโทนิน และเริ่มพูดคุยกับเขาให้มากขึ้น เมื่อได้ทำความรู้จักกัน ก็รู้ว่าเขาสอนกีตาร์ ผมจึงสนับสนุนให้เขาเล่น และผมก็สนุกสนานไปกับเขา นอกจากนี้ ยังหาสตอรี่ หาเคสที่คล้ายๆ กัน มาพูดคุยและเล่าให้เขาฟังเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เขาด้วย ในฐานะอาสาสมัคร ผมจะต้องดูแลตัวเองอยู่ตลอดเวลาครับ ทั้งด้านกาย จิตใจ ความคิด หรืออะไรก็ตามที่อาจส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่น ผมมีความตั้งใจจริง ที่จะทำงานอาสาในทุกๆ งาน อยากได้มีส่วนร่วมในการได้ช่วยเหลือผู้อื่นครับ”
ในฐานะนักศึกษาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ (นานาชาติ) ผมได้รับความเมตตาจากอาจารย์ รุ่นพี่ และพี่ๆ เจ้าหน้าที่ พวกเขาดูแลผมเป็นอย่างดี ได้รับการปฏิบัตที่เท่าเทียมกันเหมือนกับนักศึกษาไทย และเพื่อนๆ คนไทยเองก็ตาม พวกเราเข้ากันได้เป็นอย่างดี นี่ทำให้ผมรู้สึกเหมือนเป็นที่นี่เป็นบ้าน มีความสุข อบอุ่นครับ